ป้ายกำกับ: จิตวิทยา

  • การประยุกต์ใช้จิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน

    การประยุกต์ใช้จิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน

    การเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือบรรยากาศในชั้นเรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความสุข อบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความปลอดภัยทางจิต ปราศจากความกดดันต่างๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตน บรรยากาศในชั้นเรียนที่กล่าวถึงเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยาที่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความจริงใจ การมีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพประจำตัว ท่าทีการสื่อสารทั้งทางวาจาและภาษากาย รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์ ตลอดจนการเข้าใจปัญหาของผู้เรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนทั้งสิ้น

    จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน

    การรับรู้เป็นกระบวนการแปลความหมายระหว่างประสาทสัมผัสกับระบบประสาทของมนุษย์ที่ใช้อวัยวะรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ส่วนของประสาทสัมผัสในอวัยวะนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังสมองและสมองจะถอดรหัสนั้นไปยังระบบประสาททำให้เกิดการรับรู้และรู้สึกจิตวิทยาการรับรู้เป็นเหตุการณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากกิจกรรมของเซลล์สมองเป็นลักษณะหนึ่งของจิตแต่ไม่ใช่จิตทั้งหมด

    จิตวิทยาการเรียนรู้

    การเรียนรู้เกิดจากการรับรู้ของระบบประสาทและการแปลรหัสการรับรู้ให้สมองสั่งการความรู้สึกใดที่สมองได้บันทึกและจดจำไว้จะเรียกว่าประสบการณ์เมื่ออวัยวะสัมผัสต่อสิ่งเดิมอีกจะเกิดการระลึกได้องค์ประกอบของการเรียนรู้

    1. สติปัญญาของผู้รับรู้ถ้าสติปัญญาดีจะเรียนรู้ได้เร็ว
    2. ความตั้งใจในกิจกรรมที่ผู้รับรู้สัมผัส
    3. ความสนใจการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น
    4. สภาพจิตใจของผู้รับรู้ในขณะนั้น

    พฤติกรรมการเรียนรู้

    จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้แบ่งเป็น3กลุ่ม

    1. พุทธนิยม หมายถึงการเรียนรู้ในด้านความรู้ความเข้าใจ
    2. จิตพิสัย หมายถึงการเรียนรู้ด้านทัศนคติค่านิยมความซาบซึ้ง
    3. ทักษะพิสัย หมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำหรือปฏิบัติงานการเรียนรู้กับการเรียนการสอนในการสอนที่ดีผู้สอนจำเป็นต้องนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในการเรียนรู้ซึ่งสามารถกระทำได้หลายสถานการณ์เช่น

    1) การมีส่วนร่วมในการรับรู้โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดและไตร่ตรอง

    2) การทราบผลย้อนกลับการให้ผู้เรียนได้รับทราบผลของการทำกิจกรรมต่างๆ

    3) การเสริมแรงทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจ

    4) การเรียนรู้ตามระดับขั้นโดยจัดความรู้จากง่ายไปยาก.

    จิตวิทยาพัฒนาการ

    เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งศึกษามนุษย์ทุกวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในทุกๆด้านทั้งด้านการเจริญเติบโตทางร่างกายความคิดอารมณ์ความรู้สึกเจตคติพฤติกรรมการแสดงออกสังคมบุคลิกภาพตลอดจนสติปัญญาของบุคคลในวัยต่างกันเพื่อให้ทราบถึงลักษณะพื้นฐานความเป็นมาจุดเปลี่ยนจุดวิกฤตในแต่ละวัย

    การรับรู้และการเรียนรู้

    การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเนื่องมาจากประการณ์หรือการฝึกหัดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นมีลักษณะค่อนข้างถาวร

    หลักของการเรียนรู้มี 3 รูปแบบคือ

    1. การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning) เป็นการทดลองโดยใช้สัตว์เป็นตัวทดลองมีผงเนื้อและกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าจะใช้กระดิ่งเป็นตัววางเงื่อนไขจึงเรียกกระบวนการนี้ว่าการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก
    2. การวางเงื่อนไขในมนุษย์วัตสันและเรย์นอร์ได้ร่วมกันวางเงื่อนไขกับคนซึ่งเป็นการทดลองที่มีชื่อเสียงมากตามแนวคิดของวัตสันเขาเห็นว่าการเรียนรู้คือการนำเอาสิ่งเร้าไปผูกพันกับการตอบสนองและการตอบสนองที่คนเรามีติดตัวมาก็คืออารมณ์เช่นกลัวโกรธรักดังนั้นเขาจึงศึกษาการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับความกลัวของเด็กการทดลองได้กระทำกับเด็กคนหนึ่งชื่ออัลเบิร์ต (Albert) มีอายุ 11 เดือน
      โดยปกติเด็กคนนี้ไม่รู้จักกลัวสัตว์ใดๆ เลยและชอบเล่นตุ๊กตาที่ทำด้วยผ้าสำลีเป็นขนปุกปุยต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวที่มีขนปุกปุยน่ารักมีความเชื่องกับคนมาให้เด็กคนนี้ดูพอเด็กเห็นก็พอใจอยากเล่นจึงคลานเข้าไปจับต้องและเล่นกับหนูขาวจนเป็นที่พอใจแล้ววัตสันก็นำหนูขาวออกไปครั้นต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวมาให้เด็กคนนี้ดูอีกเมื่อเด็กเห็นก็ดีใจรีบคลานเข้าไปจะจับหนูขาวพอเข้าไปใกล้กำลังเอื้อมมือจะจับวัตสันก็เคาะเหล็กทำให้เกิดเสียงดังเด็กจึงตกใจกลังร้องไห้ไม่กล้าจับหนูขาววัตสัตได้ทดลองในลักษณะนี้ประมาณ 5 ครั้ง ติดกัน ทุกครั้งเด็กจะร้องไห้และตกใจกลัวในที่สุดก็เกิดกลังหนูขาวซึ่งเพียงแต่เห็นหนูขาวอยู่ไกลๆ ก็ร้องไห้เสียแล้วนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กกลัวหนูขาวเพราะถูกวางเงื่อนไข
    3. การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (operant conditioning) สกินเนอร์และธอร์นไดค์เป็นผู้นำที่สำคัญและในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของพาฟลอฟธอร์นไดค์ได้ศึกษาถึงความสามารถในการคิดและหาเหตุผลของสัตว์ทำให้เขาค้นพบหลักการเรียนรู้แบบการกระทำซึ่งสกินเนอร์ก็ได้ให้ความสนใจในแนวคิดนี้และได้ให้ชื่อว่าการวางเงื่อนไขแบบการกระทำการศึกษาในตอนแรกได้ศึกษากับแมวสุนัขและลิงแต่ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีเป็นการศึกษากับแมวโดยเขาจะจับแมวที่กำลังหิวใส่กรงใบหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นมากรงนั้นมีชื่อว่ากรงประตูกล (Puzzle Box) ซึ่งที่กรงจะมีเชือกและลวดสปริงผูกติดต่อกับแผ่นไม้เล็กๆ ถ้าบังเอิญไปกดแผ่นไม้เล็กๆนี้จะทำให้เกิดกลไกการดึงทำให้ประตูเปิดออกได้การทดลองของเขาจะเริ่มโดยจับแมวที่กำลังหิวใส่ไว้ในกรงและข้างๆ กรงด้านนอกจะมีปลาดิบวางไว้ไม่ไกลพอที่แมวจะมองเห็นได้ถนัดในการทดลองสองสามครั้งแรกแมวซึ่งหิวมีอาการงุ่นง่านเพื่อหาทางออกไปกินปลามันปฏิบัติการตอบสนองมากมายโดยวิ่งไปหลักกรงหน้ากรงเอาอุ้งเท้าเขี่ยเอาสีข้างถูกรงแต่ทั้งหมดก็เป็นไปด้วยการเดาสุ่มจนกระทั่งบังเอิญแมวไปถูกแผ่นไม้เล็กๆ นั้นทำให้ประตูเปิดออกแมวจึงได้กินปลาดิบ

    จิตวิทยาการรับรู้การเรียนรู้และจิตวิทยาพัฒนาการการรับรู้

    เป็นกระบวนการแปลความหมายระหว่างประสาทสัมผัสกับระบบประสาทของมนุษย์ที่ใช้อวัยวะรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ส่วนของประสาทสัมผัสในอวัยวะนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังสมองและสมองจะถอดรหัสนั้นไปยังระบบประสาททำให้เกิดการรับรู้และรู้สึก

    ความสำคัญของการประยุกต์ใช้จิตวิทยาการศึกษาในการเรียนการสอนของครู

    คือศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียนเพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพนอกจากนี้จิตวิทยาการศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาการสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคลครูอาจารย์จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนดังนั้นในเรียงความบทนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงจิตวิทยาการศึกษาระดับพื้นฐานที่ได้เรียนมาในภาคการศึกษานี้ในฐานะนิสิตคณะครุศาสตร์ที่จะต้องจบการศึกษาออกไปเป็นครู

    จิตวิทยาการศึกษาจะช่วยให้ครูอาจารย์มีความเข้าใจตัวในตัวผู้เรียนอย่างแจ่มแจ้งเข้าใจธรรมชาติของพวกเขาความคิดจิตใจและความต้องการของพวกเขาเข้าใจว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมสำหรับพวกเขาเข้าใจว่าอะไรจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการศึกษาของพวกเขาหรือสามารถกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าจิตวิทยาการศึกษาทำให้ครูอาจารย์มีจิตวิทยาในการสอน

    หากครูผู้สอนมีจิตวิยาในการสอนเขาย่อมรู้ว่าการบังคับให้ผู้เรียนเรียนโดยไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องเรียนจะทำให้พวกเขาเข้าใจบทเรียนเพียงผิวเผินแต่ความเข้าใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนเกิดความใฝ่รู้และพยายามเข้าใจด้วยตนเองจากตรงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าครูอาจารย์จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชานั้นๆและทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความรู้และความสัมพันธ์ของความรู้นั้นๆที่มีต่อการดำเนินชีวิตหากครูผู้สอนเข้าใจทฤษฎีพัฒนาการและทฤษฎีบุคลิกภาพของผู้เรียนในวัยต่างๆตั้งแต่วัยแรกเกิดวัยอนุบาลประถมฯมัธยมฯจนถึงอุดมศึกษาจะทำให้ครูผู้สอนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับบุคคลแต่ละวัยตามพัฒนาการทางร่างกายความคิดจิตใจอารมณ์และสังคมของผู้เรียนได้และด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านนี้จะทำให้ครูอาจารย์สามารถเล็งเห็นศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ภายในตัวผู้เรียนและช่วยผลักดันให้ผู้เรียนสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองได้และสามารถให้คำแนะนำที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเขาได้จริงและถ้าหากครูอาจารย์สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เป็นเหมือนปุ่มสตาร์ทของผู้เรียนและสามารถทำให้ปุ่มสตาร์ทนี้ทำงานได้มันจะเป็นแรงขับเคลื่อนผู้เรียนให้มุ่งไปในหนทางที่เขาใฝ่ฝันด้วยพลังจากภายในตัวของเขาเองตลอดจนการประพฤติตนของครูเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่นักเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูด

    นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆแล้วครูผู้สอนจะต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทั้งทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาความคิดสร้างสรรค์เพศสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอนและในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมครูที่ใช้วิธีการเดียวกับผู้เรียนทุกคนเปรียบเสมือนหมอที่จ่ายยาตัวเดียวกันแก่คนไข้ทุกคนที่มารับการรักษาโดยไม่คำนึงถึงโรคประจำตัวหรือประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและมีอาการแพ้ยาย่อมไม่เหมือนผู้ป่วยทั่วๆไปฉันใดผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ย่อมแตกต่างจากผู้เรียนทั่วๆไปฉันนั้นและการที่หมอเปิดเผยความลับของคนไข้ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นไรการที่ครูอาจารย์ตำหนิปมด้อยของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นกัน

    ประการต่อมาคือทฤษฎีการเรียนรู้หากครูผู้สอนเข้าใจวิธีการเรียนรู้การจดจำการทำความเข้าใจการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆที่จะมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ของผู้เรียนสิ่งเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไม่ต้องสงสัยสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สอนเข้าใจว่าความรู้นั้นจะไม่เกิดจากการสอนของผู้สอนหากแต่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนเพราะถ้าผู้สอนตั้งใจสอนแต่ผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ก็ย่อมไร้ประโยชน์ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้เรียนพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองการเก็บเล็กผสมน้อยของข้อมูลที่เขาค้นหาและประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอจะตกผลึกเป็นองค์ความรู้ได้แม้ว่าครูจะไม่ได้สอนเลยก็ตามสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนเข้าใจว่าการจับเด็กมานั่งในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เพียงอย่างเดียวเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกที่กว้างและกลมได้

    ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จิตวิทยาการศึกษากล่าวถึงซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้ทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยครูอาจารย์เกี่ยวกับการเรียนการสอนในปัจจุบันครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสอนเพื่อทำสิ่งที่เข้าใจได้ยากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเช่นการฉายภาพสไลด์และการเปิดวีดีทัศน์เป็นต้นนอกจากนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนสื่อสารกันได้สะดวกมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงช่องทางในการแสวงหาความรู้มากขึ้นอีกด้วย

    หลักการสอนและวิธีสอนนักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือเช่นหลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมปัญญานิยมและมนุษย์นิยมหลักการเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในการกำหนดกรอบและทิศทางของการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนหลักพฤติกรรมนิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์รู้วิธีสังเกตพัฒนาการต่างๆของนักเรียนนักศึกษาได้ส่วนหลักปัญญานิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์เข้าใจกระบวนการคิดจดจำและเข้าใจของนักเรียนนักศึกษาและหลักมนุษย์นิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนและช่วยในการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตใจที่งดงามและมีความเมตตาต่อผู้อื่น

    หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จิตวิทยาการศึกษาต้องการให้ผู้ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้ครูผู้สอนรู้วิธีการประเมินผลที่มีความถูกต้องแม่นยำทำให้ทราบว่าการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละวิชาหรือไม่เพราะถ้าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงก็จะเป็นผลสะท้อนว่าการจัดการเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ

    1. หลักการสอนและวิธีการสอน

    จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอนพร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

    ความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอน

    1. ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์

    2. หลักการของการเรียนรู้และการสอนประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนรู้ชนิดต่างๆ

    3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียน

    4. การนำเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน

    จุดมุ่งหมายของการนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน

    • ประการแรกมุ่งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสถานการณ์การเรียนการสอน
    • ประการที่สองนำเอาองค์ความรู้ข้างต้นมาสร้างรูปแบบเชิงปฏิบัติเพื่อครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

    หลักการสำคัญ

    1. มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน
    2. มีความสามารถในการประยุกต์หลักการจิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน
    3. มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่
    4. มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน

    ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน

    • ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
    • ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
    • ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
    • ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่นแรงจูงใจความคาดหวังเชาวน์ปัญญาทัศนคติ ฯลฯ
    • ทำให้ครูทราบทฤษฎีหลักการเรียนรู้รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
    • ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
    • ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการรวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการปกครองชั้นเรียน

    2. การสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอน

    • บรรยากาศในการเรียนการสอน
    • บรรยากาศในชั้นเรียน

    บรรยากาศ หมายถึง ความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ส่วนคำว่าสภาพแวดล้อม หมายถึง สภาวะต่างๆ ที่แวดล้อมมนุษย์อยู่ สภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะของสิ่งต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ มีทั้งที่ดีและไม่ดี ดังนั้น บรรยากาศจัดการเรียนการสอนเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งและเป็นที่ยอมกรับกันว่าบรรยากาศที่ดีเป็นผลมาจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นผลมาจากการมีบรรยากาศที่ดีด้วยเช่นกัน

    บรรยากาศในชั้นเรียน หมายถึง สภาพแวดล้อมทางการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งไม่ใช่สภาพแวดล้อมทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงระดับของอารมณ์และความรู้สึกด้วย (Good 1976 : 106) ส่วนสภาพแวดล้อมการเรียนการสอน หมายถึง สภาวะที่อยู่รอบตัวผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งเกื้อหนุนให้ผู้เรียนและผู้สอนทำงานด้วยกันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน สื่อสารระหว่างกันจนเกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดี

    โดยความสำคัญของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในชั้นเรียน ซึ่งสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าสภาพแล้วล้อมดีจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์ สังคม เป็นต้น

    การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

    บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้

    ความหมายของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

    การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เพื่อช่วยส่งเสริมให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ตลอดจนช่วยสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน

    ความสำคัญของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

    จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่าครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้

    1. ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจรเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
    2. ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นักเรียนจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
    3. ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
    4. ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
    5. ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
    6. ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้าใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

    กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน

    ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด

    บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน

    ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522 : 261 – 263)

    กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้

    1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
    2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
    3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
    4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
    5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
    6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น

    บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียนผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน

    ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน

    สุมน อมรวิวัฒน์ (2530 : 13) ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องสภาพในปัจจุบันและปัญหาด้านการเรียนการสอนของครูประถมศึกษาไว้ สรุปได้ว่า บรรยากาศในชั้นเรียนต้องมีลักษณะทางกายภาพที่อำนวยความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สร้างความสนใจใฝ่รู้และศรัทธาต่อการเรียน นอกจากนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนและระหว่างครูกับนักเรียน ความรักและศรัทธาที่ครูและนักเรียนมีต่อกัน การเรียนที่รื่นรมย์ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนได้ดี ดังนั้นจึงสามารถแบ่งประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียนได้ 2 ประเภทคือ

    1. บรรยากาศทางกายภาพ
    2. บรรยากาศทางจิตวิทยา

    บรรยากาศทั้ง 2 ประเภทนี้ มีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งสิ้น

    1. บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
    2. บรรยากาศทางกายภาพหรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

    ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น

    บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere)

    บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน

    การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ

    การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ เป็นการจัดวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมตลอดไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมความรู้ เช่น ป้ายนิเทศ มุมวิชาการ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะวางสื่อการสอน ฯลฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจ แก่ผู้พบเห็น ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว การจัดบรรยากาศทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การจัดสิ่งต่อไปนี้

    1. การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน

    1.1 ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน

    1.2 ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว

    1.3 ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน

    1.4 ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลม ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน

    1.5 ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน

    1.6 แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ

    2. การจัดโต๊ะครู

    2.1 ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย

    2.2 ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน

    3. การจัดป้ายนิเทศ

    ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย

    3.1 จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แกนักเรียน

    3.2 จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน

    3.3 จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้

    3.4 จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง

    แนวการจัดป้ายนิเทศ

    เพื่อให้การจัดป้ายนิเทศได้ประโยชน์คุ้มค่า ครูควรคำนึงถึงแนวการจัดป้ายนิเทศในข้อต่อไปนี้

    1. กำหนดเนื้อหาที่จะจัด ศึกษาเนื้อหาที่จะจัดโดยละเอียด เพื่อให้ได้แนวความคิดหลัก หรือสาระสำคัญ เขียนสรุป หรือจำแนกไว้เป็นข้อ ๆ

    2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดโดยคำนึงถึงแนวความคิดหลักสาระสำคัญของเรื่องและคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการเขารู้อะไร แค่ไหน อย่างไร

    3. กำหนดชื่อเรื่อง นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ดู ชื่อเรื่องที่ดีต้องเป็นใจความสั้น ๆ กินใจความให้ความหมายชัดเจน ท้าทาย อาจมีลักษณะเป็นคำถามและชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ในการจัดแผ่นป้าย

    4. วางแผนการจัดคล่าว ๆ ไว้ในใจ ว่าจะใช้วัสดุอะไรบ้าง แล้วจึงช่วยกันจัดหาสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรูปภาพ แผนภาพ ภาพสเก็ตซ์ ของจริง หรือจำลอง การ์ตูน เท่าที่พอจะหาได้

    5. ออกแบบการจัดที่แน่นอน โดยคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ โดยสเก็ตซ์รูปแบบการจัดลงบนกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายแผ่นป้าย ว่าจะวางหัวเรื่อง รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ในตำแหน่งใด คำบรรยายอยู่ตรงไหน ใช้เส้นโยงอย่างไรจึงจะน่าสนใจ ควรออกแบบสัก 2 – 3 รูแบบ แล้วเลือกเอารูปแบบที่ดีที่สุด

    6. ลงมือจัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้มีขนาดและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขึ้นแสดงบนแผ่นป้ายได้อย่างเหมาะสม หัวเรื่องจะใช้วิธีใด ภาพต้องผนึกไหม คำบรรยายจะทำอย่างไร เตรียมให้พร้อม

    7. ลงมือจัดจริงบนแผ่นป้ายตามรูปแบบที่วางไว้ อาจทดลองวางบนพื้นราบในพื้นที่เท่าแผ่นป้ายก่อน เพื่อกะระยะที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้จริง

    4. การจัดสภาพห้องเรียน ต้องให้ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ

    4.1 มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก

    4.2 มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป

    4.3 ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ

    4.4 มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน

    5. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน ได้แก่

    5.1 มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านคล่อง ส่งเสริม การค้นคว้าหาความรู้ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่าย เหมาะสมกับวัยของนักเรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อย ๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อสะดวกต่อการหยิบอ่าน

    5.2 มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจ ช่วยเสรมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์ ฯลฯ

    5.3 มุมแสดงผลงานของนักเรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของนักเรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย

    5.4 ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ให้ดูรกรุงรัง

    5.5 การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่มักนิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาด หรือใช้สีสะท้นแสง อาจทำให้นักเรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียน ควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์ และสวยงาม

    5.6 มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด ตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของนักเรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ และหมั่นเช็ดถูให้สะอาดเสมอ

    การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา

    การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาหรือทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเรียน ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสุข นักเรียนจะเกิดความรู้เช่นนี้ ขึ้นอยู่กับ “ครู” เป็นสำคัญ ในข้อเหล่านี้

    1. บุคลิกภาพ
    2. พฤติกรรมการสอน
    3. เทคนิคการปกครองชั้นเรียน
    4. ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน

    แต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้

    บุคลิกภาพของครู

    สภาพบรรยากาศของห้องเรียนมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของครู ครูที่มีบุคลิกภาพดี เช่น การแต่งกาย การยืน การเดน ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา เหมาะสมกับการเป็นครู จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531 : 8, 13)

    บุคลิกของครูสรุปย่อได้ 3 ประเภทคือ

    • ครูประเภทที่ 1 จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย นักเรียนและครูจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รู้จักทำงานร่วมกัน รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล นักเรียนจะรู้สึกสบายใจในการเรียน เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
    • ครูประเภทที่ 2 จะสร้างบรรยากาศแบบเผด็จการ นักเรียนไม่ได้แสดงความคิดเห็น ครูจะเข้มงวด ครูเป็นผู้บอกหรือทำกิจกรรมทุกอย่าง นักเรียนไม่มีโอกาสคิด หรือทำกิจกรรมที่ต้องการ นักเรียนจะรู้สึกเครียดอึดอัด นักเรียนจะขาดลักษณะการเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
    • ครูประเภทที่ 3 จะสร้างบรรยากาศแบบตามสบาย เป็นบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนย่อท้อ สับสนวุ่นวาย ขาดระเบียบวินัย ไม่มีความคงเส้นคงวา ครูไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี

    จากครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ครูประเภทที่ 1 มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย ก็จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าประเภทอื่น ๆ บุคลิกภาพของครูจึงมีส่วนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมาก

    3. พฤติกรรมของครูและบรรยากาศของห้องเรียน

    พฤติกรรมของครูกับการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

    กระบวนการทางจิตวิทยาที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือบรรยากาศในชั้นเรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความสุข อบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความปลอดภัยทางจิต ปราศจากความกดดันต่างๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตน บรรยากาศในชั้นเรียนที่กล่าวถึงเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยาที่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความจริงใจ การมีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพประจำตัว ท่าทีการสื่อสารทั้งทางวาจาและภาษากาย รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์ ตลอดจนการเข้าใจปัญหาของผู้เรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นครูซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ด้วยการสนใจศึกษาความรู้จากหลักการ เทคนิคและกระบวนการทางจิตวิทยา เพื่อนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจผู้เรียน รวมทั้งการฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถสื่อสารความต้องการ ความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีต่อการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

    บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนมีลักษณะอย่างไร

    บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนต้องเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง ยอมรับและส่งเสริมความสำคัญของผู้เรียน ให้ความรู้สึกเป็นอิสระและได้ใช้ความสามารถของผู้เรียนมาเป็นประโยชน์ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ท่าทีและพฤติกรรมของครูจะต้องแสดงให้เห็นว่า มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อผู้เรียน ยกย่อง ยอมรับนับถือ ให้เกียรติและสนใจปัญหาของผู้เรียนอย่างจริงใจ เป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการตอบสนองความต้องการของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว

    บรรยากาศในชั้นเรียนสำคัญอย่างไร?

    บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี เป็นสิ่งที่จะเอื้ออำนวยและส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน จึงควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

    • ด้านพัฒนาการเรียนรู้

    การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของครูผู้สอนว่าจะสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เป็นไปในลักษณะใด ครูผู้สอนจะเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปในภาวะที่พึงประสงค์ได้ก็ต่อเมื่อครูได้ตระหนักในความสำคัญของการใช้ห้องเรียนให้เป็นสถานที่ปฏิบัติการทดลอง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ค่านิยมของผู้เรียน พยายามสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมให้กิจกรรมของกระบวนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ สนุกสนานกับการเรียน มีชีวิตชีวาในการเรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้คอยรับคำสั่ง ฟังและจดตามเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบรรยากาศที่ไม่ท้าทายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่น่าสนใจ

    • ด้านตัวผู้เรียน

    บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จักตนเอง ด้านความสนใจ ความถนัด ความสามารถ เป็นโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติ การควบคุมตนเอง การมีความสามารถพิจารณาเลือกสรรวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม การที่ครูยอมรับนับถือให้เกียรติผู้เรียนในฐานะบุคคล มีเจตคติที่ดีและมีความจริงใจต่อผู้เรียน ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนยอมรับนับถือในตัวครูผู้สอนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของครูผู้สอนไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม ปรัชญา อุดมคติของครูที่แตกต่างกัน จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อผู้เรียนให้แตกต่างกันด้วย เช่น ผู้สอนที่ชอบวางอำนาจ ก้าวร้าว ชอบลงโทษ ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ผู้เรียน บรรยากาศในชั้นเรียนก็จะเป็นไปในทางลบ และจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์

    การนำแนวคิดด้านจิตวิทยาพัฒนาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็นับว่าสำคัญ โดยพิจารณาความเหมาะสมของระดับพัฒนาการในกลุ่มผู้เรียน ครูควรคำนึงถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้มีความสมดุลสอดคล้องกับระดับความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบ การช่วยตนเอง ความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ มีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาการที่ดีตามวัยและประสบความสำเร็จในที่สุด

    จากการศึกษาโดยใช้กระบวนการทางสังคมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและฝึกอบรมเด็กของพ่อแม่ พบว่า การฝึกอบรมมีส่วนช่วยส่งเสริมแนะแนวทางต่อครูผู้สอนในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดชั้นเรียน พ่อแม่ที่อบรมเลี้ยงดูลูกโดยให้ความรักและความอบอุ่น มีเหตุมีผล จะมีส่วนเสริมสร้างเด็กให้มีการพัฒนาและการปรับตัวได้เป็นอย่างดี การที่ครูผู้สอนตระหนักรู้ถึงการยอมรับนับถือผู้เรียน ตามที่เขาควรจะเป็นในแต่ละบุคคล รวมทั้งการควบคุม การบังคับ การเรียกร้อง ความมั่นคง การยืดหยุ่น ด้วยการปรับสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างมีเหตุผลและเหมาะสม จะนำไปสู่การพัฒนาวุฒิภาวะของผู้เรียนได้อย่างดี และพฤติกรรมของผู้เรียนจะเป็นไปในทางบวกมากกว่าการเน้นพฤติกรรมการเรียนการสอน ที่เข้มงวดและการทำโทษ ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาพฤติกรรมตนเองในด้านต่างๆ อีกด้วย

    บรรยากาศในชั้นเรียนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอะไรบ้าง?

    โดยทั่วไปการเรียนการสอนมีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกัน 3 ประการคือ ครูผู้สอน ผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน

    ครูผู้สอน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอน เพราะจะเป็นผู้กำหนดบรรยากาศเกี่ยวกับการเรียนการสอนแต่ละครั้งให้เป็นไปในลักษณะอย่างไร

    ผู้เรียน มีส่วนต่อบรรยากาศในชั้นเรียนด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ท่าทีของการแสดงพฤติกรรม แรงจูงใจ ความร่วมมือ การมีวินัย ความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่าของตนเอง ตลอดจนการเคารพให้เกียรติผู้อื่นโดยเฉพาะกับครู เป็นผลมาจากการที่เด็กได้รับและเห็นตัวอย่างจากบุคคลแวดล้อมและที่สำคัญคือจากพฤติกรรมของครูที่มีต่อตัวเขาในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน หรือเป็นผลมาจากบรรยากาศในชั้นเรียนนั่นเอง ซึ่งทั้งครูและผู้เรียนมีส่วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

    ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าครูมีความสามารถในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมและการสื่อสารที่เหมาะสม มีคุณภาพ เสมอต้นเสมอปลาย ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีต่อครู การเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนจะนำมาซึ่งความร่วมมือ ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก บรรยากาศในชั้นเรียนย่อมราบรื่น

    จากองค์ประกอบทั้ง 3 จะเห็นว่า ครูผู้สอนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จึงจะขอเน้นไปที่ตัวครูผู้สอนเป็นสำคัญ

    ลักษณะของครูผู้สอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพ มีหลายประการ เช่น มีความรู้ลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างชัดเจน สามารถนำความรู้นั้นมาถ่ายทอดได้ มีเจตคติที่ดีต่อการสอน ซึ่งหมายถึงมีความปรารถนาดีต่อผู้เรียน รักวิชาที่สอนและรักการสอน มีความรู้สึกอยากสอน ส่วนองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ผู้สอนจะขาดไปเสียไม่ได้นอกเหนือจากความรู้ความสามารถในการสอนแล้ว ครูจะต้องมีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้เรียนไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยวาจาและท่าทีต่อผู้เรียน ปฏิบัติต่อผู้เรียนด้วยความรู้สึกใกล้ชิด มีความห่วงใยผู้เรียน ยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน มีความสุขในการเรียน ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น

    ครูต้องใช้ห้องเรียนเป็นสถานที่ปฏิบัติการสำหรับผู้เรียนเกี่ยวกับการพัฒนา และค้นพบตนเอง เป็นสถานที่ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ห้องเรียนควรจะมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางบวกเพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีทรรศนะอันกว้างไกลต่อสังคมที่ผู้เรียนพบปะและอาศัยอยู่ การส่งเสริมบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นนั้น ผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความสามารถของผู้เรียนในฐานะเป็นบุคคล มีความรู้สึกไวต่อความคิดของผู้เรียน มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดของแต่ละบุคคล

    ครูผู้สอนต้องปฏิบัติอย่างไร?

    สิ่งที่ครูผู้สอนต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ได้แก่

    1. การยอมรับผู้เรียนในฐานะบุคคล

    การที่ผู้สอนตระหนักว่าผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องแสดงออกทางด้านการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำ ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับนั้นด้วย บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ คือ การให้ความอบอุ่นและความจริงใจระหว่างครูและศิษย์ เน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนพยายามค้นคว้าความจริงได้ด้วยตนเอง การค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเองในวิถีทางที่ควรเป็น ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนที่มีแต่การแข่งขัน ความก้าวร้าว ความกดดัน มีอคติ การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ทางลบที่จะไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ไม่พัฒนาความรู้ความสามารถ การรู้จักแก้ปัญหา การเลือก การตัดสินใจ ความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง รวมทั้งการไม่รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองและการช่วยตัวเอง ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องแสดงพฤติกรรมที่มีความอบอุ่นเป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อนและสังคม พฤติกรรมของครูจัดเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ตระหนักและรับรู้ว่า เขาได้รับการยอมรับที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ชอบพอ เสริมสร้างการตอบสนองความต้องการที่จะนำไปสู่การพัฒนาลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่า จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ครูผู้สอนจึงต้องมีความอดทน ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้เรียนอยู่เสมอ

    1. การสื่อสารแบบเปิด

    เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในการที่จะคิด วิเคราะห์ เลือกสรรที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การสนับสนุนและพัฒนาตัวผู้เรียนที่จะเป็นตัวเองนั้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานประการแรกคือ การสื่อสารแบบเปิดที่อยู่ในบรรยากาศของการยอมรับเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม พฤติกรรมและแนวคิดของแต่ละบุคคลที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน รวมทั้งการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศในชั้นเรียนที่ตอบสนองประสบการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้จากเนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถพัฒนาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนครูผู้สอนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนหรือสาระความรู้ มากกว่าด้านความรู้สึก ค่านิยมที่ควรจะปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียน บรรยากาศในการเรียนเช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย มีความกดดัน ไม่สนุกกับบทเรียน และส่งผลให้ไม่ชอบวิชาที่เรียนนั้นได้ในที่สุด

    1. การตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้อยู่เสมอ ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน สิ่งที่ครูต้องตระหนักถึง ได้แก่

    3.1 การร่วมมือและการแข่งขันของผู้เรียนภายในชั้นเรียน ประกอบด้วย

    3.1.1 บรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือกันแก้ปัญหา

    3.1.2 การให้แรงเสริมหรือรางวัล

    3.1.3 บรรยากาศที่ผู้เรียนต่างร่วมมือกัน จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าในบรรยากาศที่มีการแข่งขันกัน ผู้เรียนที่เรียนอ่อน ปานกลาง จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการร่วมมือกับผู้เรียนอื่นๆ ส่วนผู้เรียนที่เรียนดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้อื่น

    3.2 ลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพของครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

    3.3 มีความร่วมมือระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การเรียนเป็นหลักสำคัญ

    3.4 ความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อกลุ่มเพื่อน ครูผู้สอน และโรงเรียนของผู้เรียน

    จะเห็นว่าผู้สอนเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเรียนของผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและค่านิยม เป็นการช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทรรศนะอันกว้างไกล

    บรรยากาศในชั้นเรียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยา ซึ่งผู้สอนเป็นผู้มีส่วนกำหนดให้มีขึ้น หรือบรรยากาศทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องคำนึงถึงด้วย เพราะจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อกระบวนการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    เทคนิคการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา

    วิธีการทางจิตวิทยาที่ครูต้องเข้าใจและควรเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ฝึกฝนตนเองให้สามารถ และมีทักษะในการปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่ว จนเป็นธรรมชาติของนิสัยประจำตนอย่างกลมกลืนได้แก่เรื่องต่อไปนี้

    1. บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด

    ผู้เรียนทุกคนมีความต้องการที่จะได้รับการสัมผัสแตะต้องและความเอาใจใส่หรือความสนใจจากครูผู้สอนรวมทั้งเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และทุกๆ คนมีความต้องการที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการทั้งทางกายและทางจิตใจ การกระทำใดๆ ก็ตามจะเป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงความสนใจให้ปรากฏต่อผู้อื่น ผู้เรียนบางคนอาจต้องการความเอาใจใส่นี้มากกว่าคนอื่น เพื่อช่วยให้เขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางด้านจิตใจ ซึ่งครูผู้สอนอาจพิจารณาให้ความเอาใจใส่นี้ในรูปของการสัมผัสแตะต้องทางกายโดยตรง หรือในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเอาใจใส่เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกใกล้ชิด เช่น การมอง การยิ้มให้ การสบตา การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางหรือด้วยการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการแสดงให้ผู้เรียนรู้สึกสัมผัสและรับรู้ว่ามีความใกล้ชิด ได้รับความเอาใจใส่จากครูผู้สอน การเอาใจใส่ทางบวกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ก็จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง และรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ เป็นการเพิ่มพูนความรู้สึกทางด้านดีให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรับรู้ของผู้เรียนอย่างน่าพึงพอใจ ความรู้สึกที่ตามมาก็คือความรู้สึกปรารถนาดีและความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น ถ้าครูผู้สอนให้ความสนใจสิ่งเหล่านี้อย่างจริงใจ และควบคู่ไปกับการเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่กระทำเกินกว่าปกติธรรมดาก็จัดเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้มาก ดังนั้นสิ่งที่ครูผู้สอนควรปฏิบัติ คือ

    1.1 การแสดงท่าทีและกิริยาที่งดงามต่อกัน การเริ่มต้นแบบไทยโดยการกล่าวทักทาย การยิ้ม และท่าทีที่เป็นมิตร

    1.2 การให้คำพูดที่ดีๆ ใช้ภาษาสุภาพ อ่อนโยนซึ่งกันและกันจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนมีความปรารถนาดี

    1.3 ต้องมีความตั้งใจที่จะมีความคิดในสิ่งที่ดีงามต่อกัน มีความปรารถนาดีที่จะเกื้อกูลกันเสมอ อันมาจากส่วนลึกของจิตใจ

    1.4 ต้องไม่ทำตนเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ พึงระลึกอยู่เสมอว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นบุคคลอื่นอาจจะประพฤติปฏิบัติได้ แต่เรากระทำไม่ได้เพราะเราเป็นครู มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดี ไม่หลงตัวเอง อย่าลืมว่าบุคลิกภาพไม่ได้หมายถึงความหล่อหรือความงาม แต่หมายถึงภาพที่ประทับใจผู้เรียน

    1.5 มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการสร้างสายใยแห่งไมตรีจิตที่ดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยผู้เรียนเสมอ

    1.6 มีความยืดหยุ่นในด้านความคิดเห็น เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน ดังนั้นการออมชอมกันบ้างในด้านความคิดเห็น เป็นสิ่งที่จะเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนที่น่าสนใจ

    2. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น

    ครูผู้สอนจะต้องไม่ลืมว่าความอบอุ่นทางจิตใจเป็นความรู้สึกพื้นฐานของผู้เรียนที่มีอิทธิพลและจะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูผู้สอนมีความเข้าใจผู้เรียน มีความเป็นมิตร ช่วยชี้แนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนอย่างมีระบบเป็นขั้นตอน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้รู้สึกอยากเรียน รักการเรียน รักวิชาที่เรียน รวมทั้งรักเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย

    3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ

    การยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น และตระหนักถึงลักษณะเฉพาะ ข้อดีข้อจำกัดของแต่ละบุคคล รวมทั้งภูมิหลังของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน เมื่อครูให้ความนับถือผู้เรียน หมายถึงว่าครูมีความสนใจที่จะส่งเสริมให้บุคคลนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาด้วยตัวเองและด้วยวิธีการของเขาเอง การยอมรับนับถือต้องไม่เป็นการเห็นแก่ได้ ไม่ฉกฉวยโอกาสหรือการเอาเปรียบจากผู้เรียน การที่ครูเห็นคุณค่าในตัวผู้เรียนว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากกว่าการเรียนการสอนนั้น เพราะว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันรวมทั้งเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วย ครูผู้สอนควรตระหนักดีว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนยอมรับนับถือตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้เรียนต่อไป สิ่งที่ครูควรพัฒนาตนเองคือ ทักษะในการแสดงออกในการยอมรับ ซึ่งมี 3 ประการ ดังนี้

    3.1 การฟังด้วยความเข้าใจ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนด้วยความตั้งใจ ถ้าครูผู้สอนมิได้เข้าใจว่าผู้เรียนนั้นกำลังพูดว่าอะไร ครูก็คงไม่สามารถตอบสนองในทางยอมรับได้ นอกจากนั้น การรับฟังยังเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ และการให้ความสนใจเรื่องราวนั้นๆ การสื่อความหมายก็จะกระทำได้อย่างอิสระ และมีความไว้วางใจในตัวผู้รับฟังมากขึ้น

    3.2 การแสดงถึงความอบอุ่นและความนิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความอบอุ่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทางด้านจิตใจ ทั้งยังก่อให้เกิดความมั่นใจและความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น การกระตุ้นหรือสนับสนุนความคิดของผู้เรียน กระทำได้โดยการแสดงความรู้สึกนิยมชมชอบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนั้นรู้สึกว่าสามารถจะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและแสดงออกอย่างจริงใจในการที่จะเป็นตัวของเขาเอง การให้ความอบอุ่นและสนับสนุนเช่นนี้ มิได้หมายความว่าครูผู้สอนจะต้องเห็นด้วยกับการกระทำของผู้เรียนทุกประการ ดังนั้น ครูควรจะเข้าใจว่า การเห็นด้วย ต่างกับการยอมรับ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ครูไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกในชั้นเห็นด้วยกับการกระทำของครูผู้สอนหรือสมาชิกในกลุ่มโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งบรรยากาศของความเป็นมิตรที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น เมื่อสมาชิกในกลุ่มเต็มใจที่จะบอกถึงพฤติกรรมที่เขาไม่เห็นด้วยนั้น ในลักษณะที่การยอมรับกันยังคงมีอยู่ นั่นคือการแสดงความไม่เห็นด้วยในความคิดเห็นหรือการกระทำ แต่มิได้หมายความว่าไม่ยอมรับในบุคคลนั้น

    3.3 การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น จะทำให้สมาชิกในกลุ่มแสดงออกได้อย่างเปิดเผย เพราะเขารู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนเขา การสื่อความหมายให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาเป็นที่ยอมรับ จะทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การยอมรับนี้ ถ้าผู้สอนทำให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนให้แสดงออกมากขึ้นเพียงนั้น

    สรุป ครูที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการทำความเข้าใจ ความต้องการของผู้เรียน ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ตอบสนองผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม มีทักษะในการสื่อสารและสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างบรรยากาศที่ดีในการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นครูที่ประสบความสำเร็จในการสอน จึงมักมาจากครูที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน

    4. เทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการปกครองชั้นเรียน

    การควบคุมห้องเรียน

    ความสนใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการปกครองชั้นเรียนได้รับการกระตุ้นเมื่อ คูนิน (Kounin,1970)ได้เขียนสรุปเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือของเขา ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการปกครองชั้นเรียน ซึ่งได้มีหลายประเทศได้นำเอาเทคนิคของเขาไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งการควบคุมห้องเรียน

    เทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมชั้นเรียน สรุปใจความได้ดังนี้

    1. แสดงให้นักเรียนรู้ว่า ครูร่วมรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขั้นในห้องเรียน

    ครูแสดงให้นักเรียนเห็นว่า ครูพร้อมที่จะร่วมรับรู้กับการทำกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน ครูประเภทนี้จะสามารถ ปกครองชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวินัย ซึ่งจะต่างจากครูที่เข้าห้องมาเพื่อทำหน้สที่สอน ไม่ใคร่ให้ความสนใจกับความเป็นไปในชั้นเรียน ครูประเภทหลังนี้จะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมได้โดยง่าย

    2. มีความสามารถที่จะจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้

    โดยปกติในขณะที่สอน ครูส่วนใหญ่มักจะตั้งหน้าตั้งตาสอน หากพบว่าเด็กบางคนซึ่งนั่งหลังชั้นเล่นกันหรือรังแกกัน ครูก็มักจะหันไปจัดการกับคู่กรณี โดยปล่อยเด็กทั้งชั้นชั่วครู่ทำให้เด็กส่วนใหญ่เบื่อหรือไม่ก็หันไปเล่น หรือแกล้งกันKounin ได้ให้ข้อคิดว่า ครูที่สามารถปกครองชั้นเรียนได้ดี คือครูที่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ โดยไม่ต้องปล่อยเด็กทั้งชั้นตามลำพัง ดังเช่นในกรณีตัวอย่างเช่นที่กล่าวมา ในขณะที่ครูกำลังสอนอ่าน ครูก็สามารถจัดการกับนักเรียนที่ก่อกวนความสงบของห้องเรียนได้ โดยที่อาจจะเรียกให้ตอบ หรือถามคำถามว่า ขณะนี้อ่านถึงไหนแล้ว เป็นต้น แล้วก็ดำเนินการสอนไปได้ตามปกติ โดยที่เด็กทั้งชั้นไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกรบกวน

    3. พยายามดำเนินกิจกรรมในการเรียนการสอนให้มีความต่อเนื่อง

    ไม่กระโดดข้ามไปข้ามมา ในหลายๆ ครั้งจะพบว่าตัวครูเองเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาระเบียบวินัยในห้องเรียนเพราะครูไม่สามารถจัดกิจกรรมให้มีความต่อเนื่องราบเรียบ แต่ว่ากระโดนข้ามไปข้ามมา เช่น ในขณะที่สอน ครูหันไปพบว่ามีนักเรียนบางคนทำอะไรไม่เหมาะสม ก็เริ่มบ่น หรือดุ เช่น ลมเอาดินสอมา หรือ วางของไม่ถูกที่ ฯลฯ หรือในขณะที่สอน ครูอาจจะให้ความสนใจกับนักเรียนบางคน แทนที่จะให้กับทั้งกลุ่ม ลักษณะเช่นนี้ของครูก่อให้เกิดการรบกวนในการทำกิจกรรม เพราะไปดึงความสนใจของนักเรียน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางระเบียบวินัยตามม

    เพื่อเป็นการช่วยเหลือการทำของของครู ครูควรจะได้วิเคราะห์การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองเป็นประจำว่าได้ทำกิจกรรมใดบ้างที่จะก่อให้เกิดปัญหาในชั้นเรียนตามมา เช่น

    1. การเปลี่ยนกิจกรรมในขณะที่สอน โดยหันไปดุ หรือบ่นนักเรียน หรือพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียน แต่บังเอิญอยู่ในความสนใจของครู

    2. ดำเนินกิจกรรมข้ามไปข้ามมา

    3. ให้ความสนใจ หรือให้คำแนะนำกับนักเรียนบางคน ทั้งๆ ที่ควรจะให้เป็นกลุ่มได้

    จากเทคนิคที่ โคนิน (Kounin) กล่าวไว้ สรุปได้ว่า นักเรียนจะให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี ถ้าการดำเนินกิจกรรมของครูเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบเรียบ

    4. พยายามกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม แม้ว่าจะกำลังช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูจะพบว่าในขณะที่ครูให้ความช่วยเหลือนักเรียนบางคนจะทำให้ส่วนที่เหลือเกิดความเบื่อ และไม่กระตือรือร้นต่อการเรียนเท่าที่ควร ซึ่ง Kounin ได้ให้ข้อเสนอแนะเพือกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนเกิดความสนใจ แม้ว่าครูจะกพลังช่วยเหลือนักเรียนเป็นบางคนด้วยวีการดังต่อไปนี้

    4.1 ใช้การถามคำถาม แล้วหยุดสักครู่เพื่อให้ทุกคนคิดหาคำตอบแล้วจึงเรียกให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตอบคำถามนั้น หลังจากนั้นสุ่มเรียกให้นักเรียนตอบต่อไปเรื่อยๆทำให้นักเรียนไม่ทราบว่าใครจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามเป็นคนต่อไป ถ้าคิดว่ามีนักเรียนบางคนขาดความมั่นใจ กลัวการถูกเรียกให้ตอบ ครูพยายามถามคำถามที่ง่าย ๆเพื่อให้นักเรียนได้หรือพยายามหลีกเลี่ยงการถามคำถาม

    4.2 ถ้าครูให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งไปทำเลขบนกระดาน ครูให้นักเรียนคนอื่น ๆ ทำข้อเดียวกันไปพร้อมๆกันในสมุดของตนเอง แล้วสุ่มถามคำตอบจากนักเรียน 2-3 คน เพื่อเปรียบเทียบกันคำตอบบนกระดาน

    4.3 ถ้างานที่ให้ทำมีความยาว และค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยกันทำ โดยอาจจะแบ่งเป็นตอนๆ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ถ้าเป็นการอ่านทีมีความยาวก็ให้ช่วยกันอ่านคนละประโยคต่อๆกันไป

    5. ใช้เทคนิคการเรียนรู้หลายรูปแบบ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา สำหรับนักเรียนในระดับมัธยม วิธีการนี้ไม่ใคร่เหมาะ เพราะนักเรียนในวัยนี้สนใจที่จะศึกษา ค้นคว้าในเรื่องที่ซับซ้อน ฉะนั้น การเปลี่ยนเทคนิควิธีการบ่อยๆ จะเป็นการรบกวน

    6. ให้ครูตระหนักถึงท่าทีของกลุ่มที่มีต่อคำตำหนิตำเตียนที่มีต่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ (ripple effect) ดังนั้นเมื่อครูวิจารณ์พฤติกรรมของนักเรียนคนใดคนหนึ่ง ครูต้องแน่ใจว่าเป็นการวิจารณ์เฉพาะพฤติกรรม ไม่ใช่วิจารณ์บุคคลิกภาพ หรือลักษณะนิสัยของผู้นั้น และสิ่งสำคัญที่ครูต้องระวัง คือ การที่ครูพยายามหลีกเลี่ยงการระเบิดอารมณ์โกรธ ถ้าครูท่านใดทำเช่นนั้นก็จะเป็นการช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่างๆ ของนักเรียนซึ่ง Kounin ได้เสนอแนะวิธีที่จะจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียนดังนี้

    6.1 ครูจะต้องชี้ให้ชัดว่า ใครคือผู้ทำผิด และให้ระบุถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับให้ชัดเจน เช่น ชาลีอย่าโยนหนังสือให้สุดาซิคะ

    6.2 ครูให้คำแนะนำซึ่งมีลักษณะที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไป เช่น ชาลีเก็บหนังสือไว้บนชั้นให้เรียบร้อยนะ

    6.3 อธิบายเหตุผลให้นักเรียนฟังว่า เหตุใดจึงต้องหยุดการกระทำพฤตกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ชาลีโยนหนังสือเช่นนั้น จะทำให้หนังสือขาด คนอื่นๆ ก็จะไม่มีอ่าน และครูก็ไม่มีเงินจะซื้อใหม่

    6.4 ครูจะต้องไม่แสดงความเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือไม่ให้เกียรติ หรือพูดจาดูถูกนักเรียน ตลอดจนการไม่ลงโทษอย่างรุนแรง Kounin สรุปว่า ปฏิกิริยาที่รุนแรงไม่สามารถช่วยพัฒนาหรือปรับปรุงพฤติกรรมที่มีปัญหาของนักเรียนได้ เพราะความโกรธ และการตำหนิอย่างรุนแรงจะทำให้นักเรียนเกิดความเครียดเพราะความไม่พึงพอใจ

    6.5 ให้ครูสนใจกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ไม่ใช่สนใจกับบุคลิกภาพ เช่น นักเรียนอย่าผลักเพื่อนซิค่ะ เพราะจะทำให้เพื่อนล้มและเจ็บ ซึ่งจะดีกว่าการที่จะพูดว่า เธอเป็นคนเหลวไหล ไม่มีหัวคิด การทำเช่นนี้ทำให้ครูและเพื่อๆ ไม่ชอบเธอ

    จากผลงานวิจัยของนักจิตวิทยา มหาวิทยาแท็กซัส และจากผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาบางคน เช่น Brophy (1979) และ Good (1982) พบว่า

    1. นักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนที่มีการควบคุมชั้นเรียนที่ดี จะเป็นผู้รู้ถึงความคาดหวังของครูที่มีต่อคน และพร้อมที่จำทำตามความคาดหวังนั้นๆ

    2. นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน และในการร่วมกิจกรรม

    3. การเรียนเป็นไปด้วยดี ไม่เสียเวลา ไม่สับสน และไม่มีการก่อกวน

    4. นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน บรรยากาศในชั้นเรียนมีลักษณะผ่อนปรนไม่ตึงเครียด เป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์

    5. ข้อเสนอแนะการวิเคราะห์เทคนิคที่จำเป็นนำมาใช้ในการปกครองชั้นเรียน

    1) แสดงให้นักเรียนเห็นถึงความเชื่อมั่นในตนเองของครู ตลอดจนการเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มบทเรียนในวันแรก

    ครูทุกคนตระหนักดีว่าชั่วโมงแรกเป็นชั่วโมงที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่เริ่มงานใหม่เป็นชั่วโมงที่นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ารู้ว่าเป็น ครูใหม่ ถ้าผู้เป็นครูเกิดความกลัว และไม่เชื่อมั่นในตนเอง ก็จะเริ่มตกอยู่ในความลำบากในการทำงานต่อเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น บรรยากาศในชั้นเรียนจึงจะเริ่มดีขึ้น

    Kounin ได้แสนอวิธีที่จะพบกับนักเรียนในชั่วโมงแรกดังนี้ ให้ครูแจกกระดาษขนาด4/6 นิ้ว ให้นักเรียนทุกคน พร้อมทั้งให้เขียนชื่อ นามสกุล และชื่อที่อยากให้เรียก งานอดิเรก และกิจกรรมที่ชอบ ตลอดจนประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น (สำหรับนักเรียนในชั้นประถมศึกษาที่ยังเขียนชื่อไม่ได้ ให้ใช้วิธีพูดคุย) ในขณะที่นักเรียนกำลังเขียน ครูก็ได้มีโอกาสสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล การที่ครูได้มีโอกาสทำความรู้จักกับนักเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยได้เร็ว และไม่ตื่นเต้นหรือประหม่าในเวลาสอน

    2) ให้คิดว่าจะวางแผนอย่างไรกับการปกครองชั้นเรียนในแต่ละวัน และจะพูดอะไรกับนักเรียนในช่วงเวลา 2-3 นาที ของวันแรก

    ครูที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะแสดงให้นักเรียนรับรู้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกว่าครูรู้วิธีที่จะควบคุมชั้นเรียนอย่างไร สื่อให้นักเรียนรู้ว่าครูต้องการความร่วมมือ เพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่า ครูมีความมั่นใจ และมีความสามารถ

    3) สร้างกฎระเบียบในชั้นเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ

    ครูส่วนใหญ่มักจะบอกให้นักเรียนทราบถึงกฎระเบียบตั้งแต่วันแรก บางคนเขียนไว้บนกระดาน หรือครูบางคนพูดให้นักเรียนฟัง แต่วิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

    Kounin ได้เสนอวิธีที่ดีกว่า คือ การกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันออกกฎระเบียบต่างๆให้นักเรียนทุกคนได้ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบนั้น ครูสามารถที่จะทำให้กฎระเบียบนั้นๆ เป็นที่พึงปรารถนา และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ถ้าครูให้นักเรียนได้ร่วมกันอภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบนั้นๆ

    4) เริ่มต้นชั่วโมงแรกด้วยการให้งานที่มีความชัดเจน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้

    บอกให้นักเรียนรับทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง บอกให้ทราบถึงเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมินความสำเร็จ ให้งานที่นักเรียนสามารถทำเสร็จได้ภายในชั่วโมง ในระดับประถมศึกษาควรจะให้งานซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้ที่ผ่านมาในชั้นเรียนก่อน สำหรับในระดับมัธยมศึกษาให้งานที่ไม่ต้องมีความยาวมากนัก และไม่ต้องเกี่ยวข้องกับวิชาการมากนัก

    สรุป

    จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอน พร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

    ความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอน

    1. ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์
    2. หลักการของการเรียนรู้และการสอนประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนรู้ชนิดต่างๆ
    3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียน
    4. การนำเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการ แก้ปัญหาการเรียนการสอน

    จุดมุ่งหมายของการนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน

    ประการแรก มุ่งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสถานการณ์การเรียนการสอน

    ประการที่สอง นำเอาองค์ความรู้ข้างต้นมาสร้างรูปแบบเชิงปฏิบัติเพื่อครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

    หลักการสำคัญ

    1. มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน

    2. มีความสามารถในการประยุกต์หลักการจิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน

    3. มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่

    4. มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน

    ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน

    • ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
    • ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
    • ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
    • ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่น แรงจูงใจ ความคาดหวัง เชาวน์ปัญญา ทัศนคติ ฯลฯ ทำให้ครูทราบทฤษฎี หลักการเรียนรู้ รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
    • ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
    • ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการปกครองชั้นเรียน

    อ้างอิง

    1. กันยา สุวรรณแสง. (2540). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร รวมสาส์น
    2. ประสาท อิสรปรีดา. (2538). สารัตถะจิตวิทยาการศึกษา. มหานสารคาม.โครงการตำรามหาวิทยาลัย มหาสารคาม.
    3. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2556). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพมหาคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    4. แสงเดือน ทวีสิน. (2554). จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร:ไทยเส็ง.
    5. พรรณี ช. เจนจิต. (2545). จิตวิทยาการเรียนการสอน.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : เมธีทิปส์.
    6. รศ.ดร.พรรณีชูทัยเจนจิต. (2550). จิตวิทยาการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่5 สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการกรุงเทพ.
    7. ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/205143 วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
    8. ที่มา http://bunmamin25385.blogspot.com/ วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
    9. ที่มา http://www.fityatulhaq.net/forum/index.php?topic=2355.0 วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
  • การสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    การสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญคือ การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะไม่มุ่งไปที่การหาวิธีถ่ายทอดเนื้อหาหรือทักษะที่ซับซ้อนให้กับผู้เรียน แต่จะพยายามหาหนทางสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดพลัง เกิดความปรารถนาเกิดยุทธวิธีในการคิด เพื่อที่จะค้นหาความรู้ หาคำตอบ แก้ปัญหา และค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตัวเองได้นั้นต้องมาจากการเรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมซึ่งหลักการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่ม Construcivism ที่เชื่อ การเรียนรู้ คือการที่ผู้เรียนเห็นความหมายของสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง โดยผ่านกิจกรรมทางสังคมนั่นเอง สำหรับวิธีการสอนที่ยึดหลักการของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    1. การสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและแนวคิดกลุ่ม Constructivism

    การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการนี้คือ ครู แต่จากข้อมูลอันเป็นปัญหาวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ครูยังแสดงบทบาทและทำหน้าที่ของตนเองไม่เหมาะสม จึงต้องทบทวนทำความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนต่อไป

    การทบทวนบทบาทของครู ควรเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน โดยต้องถือว่า แก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบการทำงานของครูกับแพทย์คงไม่ต่างกันมากนัก แพทย์มีหน้าที่บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของผู้ป่วย ด้วยการวิเคราะห์ วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน แล้วจัดการบำบัดด้วยการใช้ยาหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน วิธีการรักษาแบบหนึ่งแบบใดคงจะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือน ๆ กันไม่ได้ นอกจากจะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ครูก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจากข้อมูลที่เป็นวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ครูจึงต้องหันมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข โดยต้องตระหนักว่า คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของ ผู้เรียน และการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้ ส่วนเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะได้กล่าวในตอนต่อไป

    ลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ดังนี้

    1. Active Learning ปฏิบัติด้วยตนเอง
      ด้วยความ กระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลองรายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่ เตรียมการจัด บรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อสิ่งเร้าเสริมแรงให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
    2. Construct ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง
      อันเกิดจากการได้ศึกษาค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่ การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) ที่พึงประสงค์
    3. Resource ได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย
      ทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์ (เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่าง ๆ) ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์)”
    4. Thinking ส่งเสริมกระบวนการคิด
      ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูก ทางคิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น (ทิศนา แขมมณี และคณะ, 2543 : 55-59) การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะ ต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล มีวิจารณญาณในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิด เห็นออกได้อย่างชัดเจนและมีเหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
    5. Happiness เรียนอย่างมีความสุข
      เป็นความสุขที่เกิดจาก ประการที่หนึ่งผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนสนใจสาระการเรียนรู้ ชวนให้สนใจใฝ่ค้นคว้าศึกษาท้าทายให้แสดง ความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ประการที่สองปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน
    6. Participation มีส่วนร่วมในการวางแผนกำหนดงาน
      วางเป้าหมายร่วมกันและมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถ ประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
    7. Individualization ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในวามเป็นเอกัตบุคคล
      ผู้สอนยอมรับในความสามารถ ความคิดเห็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกันโดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
    8. Good Habit พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม
      เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ฯลฯ และ ลักษณะนิสัยในการทำงานอย่างเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และ การเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น

    กล่าวโดยสรุป การจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเรียน ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ได้ประยุกต์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิต ได้มีความสุขและสนุกกับการเรียนรั้ ตลอดจนมีคุณลักษณะนิสัยดีงามที่สังคมพึงปรารถนา

    2. แนวคิดกลุ่ม Constructivism

    ความรู้ประกอบด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่เดิม และเมื่อเราเรียนรู้ต่อไปความรู้เดิมก็จะถูกปรับเปลี่ยนไป การปรับเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ถือว่าเป็นการรับความรู้เข้ามาและเกิดการปรับเปลี่ยนความรู้ขึ้น เด็กจะมีการคิดที่ลึกซึ้งกว่าการท่องจำธรรมดา เพียงแต่เขาจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มา และสามารถที่จะสร้างความหมายใหม่ของความรู้ที่ได้รับมานั่นเอง

    บางครั้งเราคิดว่าถ้าเรามีหลักสูตรที่ดีพอและเต็มไปด้วยข้อมูลที่สามารถให้กับผู้เรียนได้มากที่สุดเท่าที่เราจะให้ได้แล้ว ผู้เรียนก็จะสามารถเรียนรู้ได้เองและเติบโตไปเป็นผู้ที่มีการศึกษา แต่ทฤษฎี constructivism กล่าวว่าหลักสูตรอย่างนั้นไม่ได้ผล นอกจากว่าผู้เรียนได้เรียนแล้ว สามารถคิดเองและสร้างมโนภาพความคิดด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพราะการให้แต่ข้อมูลกับผู้เรียน ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมองของคนเรามีกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้นแล้วนำมาทำความเข้าใจว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งจะต้องนำมาสร้างความรู้ ความรู้สึก และมโนภาพของเราเองด้วย

    ดังนั้นถ้าพูดถึงระบบการศึกษาแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้หมายความว่ามีอุปกรณ์การสอนแล้วเราละทิ้งให้ผู้เรียนเรียนไปคนเดียว แต่การศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด หมายความว่าผู้เรียนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กันกับสิ่งกระตุ้น สิ่งกระตุ้นในที่นี้ หมายถึง ครู ผู้สอน หรือสิ่งแวดล้อมที่จะไปกระตุ้นผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยชี้แนะแนวทางการคิดให้กับผู้เรียน นอกจากนี้การสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งกระตุ้นต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างเป็นความรู้ขึ้นในสมอง

    ตัวกระตุ้นที่มีความสำคัญมากต่อการเกิดการเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructivism คือ ความรู้เกิดจากความฉงนสนเทห์ทางเชาวน์ปัญญา วิธีการที่เราสามารถทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้คือมีตัวกระตุ้นที่ทำให้ผู้เรียนเกิดข้อสงสัยอยากรู้ และผู้เรียนต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์ที่อยากจะเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้เพราะว่าเวลาคนเราเกิดความสงสัยเกี่ยวกับอะไร ก็มักจะเกิดข้อคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้น เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะตอบคำถามนั้นให้ ได้

    ดังนั้นครูจึงต้องพยายามดึงจุดประสงค์ ความต้องการ และเป้าหมายของผู้เรียนออกมาให้ได้ อาจจะโดยกำหนดหัวข้อหรือพูดคร่าวๆ ว่าเราจะศึกษาหรือเรียนรู้อะไรบ้าง เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมือง ให้ผู้เรียนตั้งเป้าหมายว่าเขาต้องการที่จะเรียนรู้อะไร มีคำถามอะไรบ้าง ซึ่งเป้าหมายจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนและทำให้ผู้เรียนพยายามที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น และมีความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

    อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มนักจิตวิทยา ได้ให้ความคิดเห็นว่าความรู้มาจากการมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม จากการที่เราได้ทบทวนและสะท้อนกลับไปของความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเข้าใจ

    กระบวนการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ที่มีความสัมพันธ์กันเป็นสังคม กล่าวคือ ความรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม ความรู้มาจากการที่คนอื่นได้แสดงออกของความคิดที่แตกต่างกันออกไป และกระตุ้นให้เราเกิดความสงสัย เกิดคำถามที่ทำให้เราอยากรู้เรื่องใหม่ๆ

    ดังนั้น การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องมีสังคม ต้องดึงเอาความรู้เก่าออกมาและต้องให้ผู้เรียนคิดและแสดงออก ซึ่งจะทำได้เฉพาะกับสังคมที่มีการสนทนากัน แม้ว่าบางครั้งการสนทนาหรือการแสดงความคิดเห็นอาจจะไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกัน แต่ความขัดแย้งจะทำให้เราเกิดการพัฒนาและได้ทางเลือกใหม่จากที่คนอื่นเสนอ ฉะนั้นต้องทำให้ผู้เรียนได้แสดงออกมาว่ารู้อะไร และให้พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียนรู้โดยที่ครูหรือผู้สอนเป็นผู้ช่วยเหลือเขา

    สิ่งสำคัญมากประการหนึ่ง คือ ครูจะต้องมีเวลากลับไปทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการออกแบบชั้นเรียน และถ้าผู้เรียนสามารถสร้างวิธีการประเมินตนเองในการเรียนรู้ที่ผ่านมา ก็จะประเมินตนเองได้ว่าได้ทำอะไรเพิ่มเติมจากที่ครูประเมิน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ของเขาและสะท้อนว่าเขาได้ เรียนอะไรและทำได้ดีเพียงไร

    3. หลักการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อความรู้ความเข้าใจและ metacognition

    1. ธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ (Nature of Learning Process)
      การเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนจะได้ผลก็ต่อเมื่อเป็นกระบวนการที่เกิดจากความตั้งใจของผู้เรียนที่จะสร้างความหมายจากข้อมูล จากประสบการณ์ที่ได้รับ และจากความความคิดและความเชื่อของตนเอง โดยเน้นที่ตัวผู้เรียนว่าจะต้องมีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ และมีจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนสามารถจูงใจหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกดังกล่าวได้
    2. เป้าหมายของกระบวนการเรียนรู้ (Goals of the Learning Process)
      เนื่องจากการเรียนรู้จะเกิดจากตัวผู้เรียนที่ต้องมีความตั้งใจและมีจุดมุ่งหมายของตนเอง แต่บางครั้งจุดมุ่งหมายและความต้องการของผู้เรียนอาจไม่ตรงกันกับเป้าหมายของสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งในการนี้นักวิชาการ นักการศึกษา และครูผู้สอนจะต้องช่วยทำให้จุดมุ่งหมายและความสนใจส่วนบุคคลของผู้เรียนตรงกับสิ่งที่นำเสนอให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการลดช่องว่าง ปรับแต่ง ประสมประสาน หรือกระตุ้นความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจุดมุ่งหมายของผู้เรียนและเป้าหมายทางการศึกษา
    3. การสร้างความรู้ (Construction of Knowledge)
      ความรู้จะขยายกว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีความหมาย ซึ่งรูปแบบของการเชื่อมโยงความรู้ทำได้หลายวิธี เช่น การเติม การปรับแต่ง การจัดความรู้และทักษะเดิมใหม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้เรียนจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ดังกล่าวและสร้างเป็นความรู้ที่มีความหมายขึ้นมาใหม่ได้ แต่การเชื่อมต่อความรู้ใหม่ไปสู่การปฏิบัติจริงอาจยังทำได้ไม่ดีนัก ดังนั้นผู้สอนจะต้องหาทางช่วยให้ผู้เรียนประยุกต์ความรู้ไปใช้ในประสบการณ์จริงได้
    4. การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)
      ผู้เรียนจะต้องมีกลยุทธ์ในการคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ ยังต้องสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการเรียนรู้ครั้งต่อไปด้วย ซึ่งความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์และการเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าวของผู้เรียนเกิดจากการได้รับคำแนะนำและการได้รับผลป้อนกลับ การสังเกต และการได้ใกล้ชิดกับตัวแบบที่เหมาะสม ซึ่งผู้สอนน่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความคิดในเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดีด้วยการให้คำชี้แนะ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้เรียน รวมทั้งให้ผลป้อนกลับที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ของตนเองขึ้นมาได้
    5. การคิดเกี่ยวกับความคิดของตนเอง (Thinking about Thinking)
      ผู้เรียนจะต้องกระตือรือร้นในการคิด การใช้เหตุผล มีจุดมุ่งหมาย และสามารถเลือกใช้กลยุทธหรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อที่จะบรรลุจุดมุ่งหมาย รวมทั้งติดตามและทบทวนความก้าวหน้าของจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้ และเมื่อประเมินแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ก็สามารถค้นหาวิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้นต่อไปได้ ดังนั้น ผู้สอนจำเป็นที่จะต้องให้ข้อเสนอแนะที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนากลยุทธ์ขั้นสูงในการตรวจสอบ ทบทวน และประเมินความคิดของตนเองเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขหรือหาวิธีการใหม่ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
    6. บริบทของการเรียนรู้ (Context of Learning)
      เนื่องจากการเรียนรู้ของผู้เรียนมิได้เกิดขึ้นได้โดยอิสระ ต้องมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้สอน วิธีการสอน วัฒนธรรมของกลุ่ม และเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการสอน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อแรงจูงใจของผู้เรียน ต่อการเชื่อมโยงความรู้ ต่อยุทธวิธีในการเรียนรู้และการคิดของผู้เรียนแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้หรือไม่

    ปัจจัยที่สัมพันธ์กับอารมณ์ และแรงจูงใจ

    1. อารมณ์และแรงจูงใจมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ (Motivational and Emotional Influences of Learning) ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของผู้เรียนซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะทางอารมณ์ ความเชื่อ ความสนใจ เป้าหมายในชีวิต และความเคยชินในการคิด โดยอารมณ์ทางบวก ได้แก่ความอยากรู้อยากเห็น และความวิตกกังวลในระดับปานกลางจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจและความตั้งใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามอารมณ์ทางลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลที่สูงเกินไป ความตื่นตระหนก ความรู้สึกไม่มั่นคง รวมทั้งความคิดที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง เช่น ความกลัวการพ่ายแพ้ ความล้มเหลว กลัวการถูกลงโทษ การถูกดูหมิ่นเหยียบหยาม ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อแรงจูงใจ อันจะทำให้เกิดผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และทำให้ผลการปฏิบัติงานลดลง
    2. แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation to Learn) ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดในระดับสูง และความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ทำให้บุคคลเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียน ดังนั้นการจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในได้ ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากใช้ความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดในระดับสูงเพื่อแก้ปัญหา โดยผู้สอนควรเสนองานที่มีลักษณะดังนี้คือ งานที่มีความยากพอสมควรเพื่อท้าทายความสามารถของผู้เรียน และต้องเป็นงานที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งเป็นงานที่ผู้เรียนได้มีอิสระในการเลือก ในการควบคุม และในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าผู้สอนสามารถทำให้งานมีลักษณะดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียนนั้นเอง
    3. ผลของแรงจูงใจที่มีต่อความพยายาม (Effects of Motivation on Effort) การได้มาซึ่งความรู้และทักษะที่ซับซ้อนต้องอาศัยพลังและความพยายาม ตลอดจนความอดทนที่สูงมาก ผู้สอนจะต้องหากลยุทธที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดพลังจูงใจดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีเป้าหมายชัดเจน การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจภายในในการปฏิบัติงาน และการทำให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความน่าสนใจของงาน ซึ่งกลยุทธ์ต่าง ๆ ดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดพลัง และเกิดความพยายาม ตลอดจนมีความอดทนในการทำงานสูง

    ปัจจัยที่เกี่ยวกับพัฒนาการและอิทธิพลของสังคม

    1. อิทธิพลของพัฒนาการต่อการเรียนรู้ (Developmental Influences on Learning)
      ในขั้นพัฒนาการของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด อารมณ์ และสังคม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการเรียนรู้จากครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมทั้งวัฒนธรรมรอบข้าง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้สอนจะต้องนำมาพิจารณาและทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้สามารถจัดเตรียมเนื้อหา กิจกรรม และวัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนที่เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและสนุกสนานกับการเรียนรู้
    2. อิทธิพลของสังคมต่อการเรียนรู้ (Social Influences on Learning)
      การปะทะสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนแทบทั้งสิ้น การสนับสนุนให้มีการปะทะสัมพันธ์ทางสังคม การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน จะช่วยให้บุคคลมีมุมมองที่กว้างไกล เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด อันจะนำไปสู่ความสามารถในการคิดขั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลยังทำให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกที่มั่นคง เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเอื้ออาทรต่อกัน อันจะนำไปสู่ความรู้สึกมีส่วนร่วมต่อสังคม (Sense of Belonging) การยอมรับตนเอง (Self Acceptance) รวมทั้งความนิยมนับถือตนเองด้วย (Self-Respect) ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้

    ปัจจัยที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล

    1. ความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้ (Individual Differences in Learning)
      ผู้เรียนแต่ละคนมีกลวิธีการในการเรียนรู้ การจัดกระทำกับความรู้ และความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ทางสังคมที่ผ่านมาและการได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเอื้ออำนวยให้บางคนเรียนรู้ได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางให้อีกหลายคนเกิดการเรียนรู้ที่ยากลำบาก ดังนั้นผู้สอนจะต้องหาหนทางที่เป็นกลางในการทำให้ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าจะมีการเรียนรู้ การจัดกระทำกับความรู้ และความสามารถในการเรียนรู้แบบใดก็ตามสามารถรับรู้ และจัดกระทำกับความรู้ต่อไปได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งในการนี้ผู้สอนอาจต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือโสตทัศนศึกษาเข้าช่วยด้วย
    2. การเรียนรู้และความหลากหลาย (Learning and Diversity)
      ถึงแม้หลักการพื้นฐานของการเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจในการเรียน และวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนโดยทั่ว ๆ ไปก็ตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงและนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยก็คือ ความแตกต่างในเรื่องของภาษา เชื้อชาติ ความเชื่อ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ซึ่งการนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาประกอบด้วยจะช่วยทำให้การออกแบบบทเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถดึงดูดและสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้เกิดกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
    3. มาตรฐานและการประเมิน (Standards and Assessment)
      การตั้งมาตรฐานที่ท้าทายความสามารถ และการติดตามประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนทุกขั้นตอน รวมทั้งการประเมินความรู้และทักษะที่ผู้เรียนได้รับอย่างต่อเนื่อง จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากแก่ทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน ทำให้ผู้สอนทราบถึงความก้าวหน้าหรือสัมฤทธิ์ผลที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนแต่ละคน รวมทั้งทราบถึงความก้าวหน้าหรือสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียนเมื่อเปรียบเทียบกันผู้เรียนคนอื่น ๆ ภายในกลุ่ม ทำให้ผู้สอนสามารถปรับแต่ง และออกแบบบทเรียนได้อย่างเหมาะสมในทุก ๆ ขั้นตอน นอกจากนี้ การประเมินผลยังช่วยฝึกทักษะในการประเมินตนเองของผู้เรียนว่าได้บรรลุจุดมุ่งหมายหรือมาตรฐานมากน้อยเพียงใด ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับตนเอง รวมทั้งสามารถเรียนรู้โดยการนำตนเองได้ (Self-Directed Learning)

    4. วิธีการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

    วิธีการสอนแบบ Cooperative Learning

    การเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยกันสองคน หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ในการทำงานร่วมกันก็เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยวิธีการทำงานร่วมกันคือ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองสูงสุด และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ได้ประโยชน์ของกันและกันมากที่สุด (ทิศนา แขมมณี, 2548, 2551)

    รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการเรียนรูปแบบร่วมมือของจอห์นสัน และจอห์นสัน (Johnson & Johnson, 1974 : 213 – 240 อ้างใน ทิศนา แขมมณี (2545, 2547, 2548, 2550, 2551) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันกันเพราะการแข่งขันก่อให้เกิดสภาพการณ์ของ การแพ้-ชนะ ต่างจากการร่วมมือกัน ซึ่งก่อให้เกิดสภาพการณ์ของการชนะ-ชนะ อันเป็นสภาพการณ์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านจิตใจและสติปัญญา

    องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้ด้วยการงานร่วมกัน

    การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพากัน ต้องมีทัศนคติที่ดีในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Positive Interdependence) ผู้เรียนต้องมีความตระหนักว่าทุกคนต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้คนเดียว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ความช่วยเหลือซึ่งกันละกันภายในกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน (Face to Face Interaction) ผู้เรียนต้องทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน ฉะนั้นผู้เรียนควรมีการแบ่งปันข้อมูล การสนับสนุนช่วยเหลือกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และกระตุ้นการทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ จะเป็นการพูดคุยถกเถียงการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นการตรวจสอบความเข้าใจ การเรียนรู้ทั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

    1. การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม (social skills) โดยเฉพาะทักษะในการทำงานร่วมกัน
    2. การเรียนรู้ร่วมกันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (group processing) สมาชิกในกลุ่มต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันถึงความสำเร็จของงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
    3. การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (Individual Accountability) หากผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้แบบร่วมมือกันนอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านเนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนทางด้านสังคมและอารมณ์มากขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกมาก

    รูปแบบนี้มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด การแก้ปัญหาและอื่น ๆ

    รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการดำเนินการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไป ในทิศทางเดียวกันคือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัย การร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูป จะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล เป็นประการสำคัญ

    การเรียนแบบ Collaborative สามารถใช้ในการเรียน ดังต่อไปนี้

    1. Group Process/Group Activity/Group Dynamics

    1.1 เกม

    1.2 บทบาทสมมุติ

    1.3 กรณีตัวอย่าง

    1.4 การอภิปรายกลุ่ม

    2. Cooperative Learning

    2.1 การเล่าเรื่องรอบวง (Round robin)

    2.2 มุมสนทนา (Corners)

    2.3 คู่ตรวจ สอบ (Pairs Check)

    2.4 คู่คิด (Think-Pair Share)

    2.5 ปริศนาความคิด (Jigsaw)

    2.6 กลุ่มร่วมมือ (Co-op Co-op)

    2.7 การร่วมมือกันแข่งขัน (The Games Tournament)

    2.8 ร่วมกันคิด (Numbered Headed Together)

    3. Constructivism

    3.1 The Interaction Teaching Approach

    3.2 The Generative Learning Model

    3.3 The Constructivist Learning Model

    3.4 Cooperative Learning

    การเรียนรู้ด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม จำแนกลักษณะได้ดังนี้

    บทบาทของผู้สอน

    • ต้องวางแผนทักษะการทำงาน เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้

    • สอนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้

    • พัฒนาผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบ

    • ส่งเสริมให้เกิดเรียนรู้อย่างแท้จริง

    • อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสาสมารถประเมินตนเองได้

    • กระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้

    • ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกๆ คน

    • สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนใช้ความคิดให้มากขึ้น

    • ผู้สอนต้องสอนทักษะการเข้าสังคม

    • มีความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับวัสดุฝึก นักเรียนกับนักเรียน

    วิธีการสอนแบบ Discovery Learning

    กระบวนการเรียนรู้แบบ Discovery Learning Process เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ครู หรือผู้สอน มีบทบาทเป็นกองหนุนให้ผู้เรียน เป็นผู้ช่วยส่งเสริม ให้โอกาสผู้เรียนแต่ละคน ได้ฝึกฝนทักษะที่มีอยู่ในตัวเอง ในการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการเรียนรู้ตามแบบของตนเอง ประกอบไปด้วย 7 ส

    ส 1. สงสัย: ฝึกฝนการเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย รู้จักตั้งคำถาม นำไปสู่การเป็นคนใฝ่รู้ตื่นตัว คิดเป็น

    ส 2.สังเกต: รู้จักเก็บรายละเอียด ไม่รีบร้อน ไม่มองข้าม นำไปสู่การเป็นคนละเอียดรอบคอบ

    ส 3. สัมผัส: ช่วยฝึกฝนให้คนรู้จักการใช้ หู ตา จมูก และลิ้นในการเรียนรู้ เกิดการพัฒนาสมอง และการใช้ทักษะของร่างกายทั้ง 5

    ส 4. สำรวจ: ให้ผู้เรียนรู้จักมองหาความเชื่อมโยงความสัพันธ์ความเกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ เป็นพัฒนาไปสู่การมองแบบองค์รวม

    ส 5. สืบค้น: เป็นนำความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ มาศึกษานำไปสู่การเป็นคนใฝ่รู้ รักการอ่าน การค้นคว้า

    ส 6. สั่งสม: ฝึกทำซ้ำ ๆ ให้ผู้เรียนมีหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ ทบทวนความถูกต้องแม่นยำ รู้จักฝึกหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาตนเองสู่ความเชี่ยวชาญ

    ส 7. สรุปผล: รู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลความคิด ลำดับขั้นตอน รู้จักกล้านำเสนอความคิด หรือคำตอบ ในมุมมองที่เหมือน หรือแตกต่าง ด้วยตนเอง

    การจะจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ได้ต้องเชื่อมั่นว่าผู้เรียนมี ศักยภาพ ในตนเอง มีความกระหายใคร่รู้ มีความฝัน และจินตนาการ และมีความปรารถนา เป็น คนดี

    Discovery Learning Process ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ที่เป็นองค์ประกอบในการดำรงชีวิตของเขาในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Discovery Learning Process เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ก่อให้เกิดความรู้ ผ่านทางความคิดของผู้เรียน ตลอดจนได้ลงมือปฏิบัติเอง (เรียนรู้โดยการกระทำ) ได้ลองผิดลองถูกเอง สามารถสรุปความคิดรวบยอดได้ ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทางความคิดแบบมีเหตุผล (คิดวิเคราะห์เป็น) แก้ปัญหาได้ ผู้เรียนจะเกิดความภูมิใจ สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ เป็นผู้ใฝ่รู้ และเรียนรู้วิธีที่จะค้นหาคำตอบ นำไปสู่การจดจำสิ่งที่เรียนรู้แล้วได้นาน แบบฝังลึก

    บทบาทของครู หรือผู้สอน จึงเป็นผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียน ได้ใช้ทักษะ 7 ส. ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนเอง ดังนี้ ชักชวนให้ผู้เรียนเกิดการสงสัย ไม่รีบให้คำตอบ, ให้เวลาผู้เรียนได้สำรวจฝึกการสังเกต ใช้บันทึกช่วยจำ, กระตุ้นให้ผู้เรียนได้สัมผัส ให้ครบทั้ง 5 สัมผัส อย่าใช้ คำว่า “ห้าม” “อย่า” “หยุด” กับผู้เรียน, สนับสนุนให้ผู้เรียนอยากสำรวจสิ่งที่สนใจ, สนับสนุนเสนอแนะแนว ให้ผู้เรียนสืบค้นหาคำตอบต่อจากสิ่งที่ได้สำรวจ, ให้โอกาสให้ผู้เรียนได้เกิดการสั่งสมเพื่อให้ได้นำความรู้ที่ได้กลับมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ, เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สรุปผลได้เองเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดได้ด้วยตนเอง

    ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการสงสัยรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเห็น ชักจูงให้ผู้เรียนใช้การสังเกต สัมผัส ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่าง ไม่ปิดกั้น และสนับสนุนให้ผู้เรียนต่อยอดความรู้ด้วยการสำรวจ และสืบค้นข้อมูล จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ รอบตัว และมีการสั่งสม ทำซ้ำจนเกิดเป็นความชำนาญ หรือเกิดทักษะในเรื่องนั้น ๆ ตลอดจนได้คำตอบสุดท้าย ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสรุปความรู้อย่างอิสระรวมทั้งเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตผู้เรียนว่ามีการฝึกทักษะ 7 ส.มากน้อยเพียงใด ครูผู้สอนต้องทำหน้าที่นักวางแผน สร้างโจทย์ หรือเงื่อนไขการเรียนรู้ และจัดกระบวนการกิจกรรมรองรับ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และสถานการณ์นั้น ๆ

    วิธีการสอนแบบ Scaffolding

    เป็นเทคนิคการสอนแบบหนึ่ง ที่มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลายท่าน เช่นกระบวนการสอนแบบเอื้ออาทร หรือใช้ว่า การเสริมต่อการเรียนรู้ Scaffolding มาจากแนวคิดของไวก็อตสกี้ (Lev Semenovich Vygotsky) เรื่องพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ และการเสริมต่อการเรียนรู้ ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการ แนวทางที่ไวก็อตสกี้เสนอไว้ และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) ซึ่งอธิบายไว้ดังนี้

    การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) หมายถึง บทบาทเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ที่ให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ ตามสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหานั้นด้วยตนเองได้ โดยเป็นการจัดเตรียมสิ่งที่เอื้ออำนวย การให้การช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุน ขณะที่ผู้เรียนกำลังแก้ปัญหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้เรื่องใด เรื่องหนึ่ง (ผู้เรียนกำลังอยู่ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ) ทำให้ผู้เรียนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็น ขั้นตอน และปรับการสร้างความรู้ความเข้าใจภายในตน (Internalization) ให้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจใหม่ภายในตนเอง ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน ให้ก้าวไปสู่ขั้นหรือระดับพัฒนาการที่สูงขึ้นไป ทำให้ผู้เรียนสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ และมีความเชื่อมั่นในตนเองในการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น

    วูด บรูเนอร์ และโรส (Wood, Bruner & Ross. 1976) ได้เสนอวิธีการช่วยเสริมต่อการเรียนรู้ไว้ 6 ประการ คือ

    1. การสร้างความสนใจ (Recruitment) กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ โดยผู้เรียนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของงานหรือการเรียนรู้นั้น
    2. ลดระดับการเรียนรู้ที่ไร้หลักการ ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ (Reduction in degree of freedom) เพราะจะทำให้ยากต่อการจัดการหรือการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้สอนจะต้องสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) เป็นระยะๆ สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้เรียนนำผลไปใช้เพื่อเพิ่มระดับการเรียนรู้ในแต่ละขั้นได้อย่าง ถูกต้อง
    3. รักษาทิศทางการเรียนรู้ (Direction maintenance) ผู้สอนต้องดูแลกวดขันผู้เรียนเป็นพิเศษเพื่อให้เรียนรู้ที่จะมุ่งไปสู่จุด มุ่งหมายตั้งไว้
    4. กำหนดลักษณะสำคัญที่ควรพิจารณาของสิ่งที่จะเรียนรู้ให้เด่นชัด (Marking critical features) เช่น ผู้สอนเมื่ออธิบายเนื้อหาสาระบางอย่างที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ก็ควรเน้นเสียงเป็นพิเศษ หรือหากผู้เรียนเกิดความขัดแย้งในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ ผู้สอนควรแปลความหมายของเรื่องที่กำลังเรียนรู้นั้นๆ เสียใหม่ ด้วยภาษาที่ให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายๆ และถูกต้องตรงกัน
    5. ควบคุมความคับข้องใจของผู้เรียน ( Frustration control) รับรู้ต่ออารมณ์ของผู้เรียนที่แสดงออกมา เช่น ผู้สอนต้องยอมรับความรู้สึกของผู้เรียนกรณีที่เขาเกิดความไม่เข้าใจสิ่งที่ กำลังเรียนรู้ ไม่ควรเพิกเฉยหรือปล่อยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ค้างคาใจ เพราะจะทำให้ผู้เรียนมีความคับข้องใจเพิ่มมากขึ้น
    6. ควรมีการสาธิต (Demonstration) หรือมีแบบอย่างให้กับผู้เรียนในการแก้ปัญหาการเรียนรู้

    สรุป

    หลักการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะไม่มุ่งไปที่การหาวิธีถ่ายทอดเนื้อหาหรือทักษะที่ซับซ้อนให้กับผู้เรียน แต่จะพยายามหาหนทางสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดพลัง เกิดความปรารถนาเกิดยุทธวิธีในการคิด เพื่อที่จะค้นหาความรู้ หาคำตอบ แก้ปัญหา และค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตัวเองได้นั้นต้องมาจากการเรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมซึ่งหลักการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่ม Construcivismที่เชื่อ การเรียนรู้ คือการที่ผู้เรียนเห็นความหมายของสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง โดยผ่านกิจกรรมทางสังคมนั่นเอง สำหรับวิธีการสอนที่ยึดหลักการของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้แก่ 1)การสอนแบบCooperative Learningซึ่งสอนโดยการแบบผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการเรียนรู้หรือแก้ปัญหาที่ผู้สอนกำหนด 2)การสอนแบบ Discovery Learning ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้สอนจะเสนอตัวอย่างบางส่วนของสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสังเกต ทดลอง พินิจพิเคราะห์ และใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง จนในที่สุดสามารถค้นพบหลักการหรือเกิดการเชื่อมโยงโครงสร้างความรู้ทั้งหมดได้ด้วยตนเอง และ3)Scaffodingเป็นวิธีการสอนที่ผู้สอนจะต้องมีบทบาทในการให้คำแนะนำหรือเป็นแบบอย่างในการคิดวิเคราะห์ หรือควบคุมการทำงานภายในความคิดตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    นอกเหนือจากวิธีการสอนที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ผู้สอนสามารถสร้างสรรค์วิธีการสอนเช่นใดก็ได้ที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามปรัชญาของการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากนั้นทำการวิจัยตรวจสอบ บันทึกผลที่ได้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์หรือไม่เพียงใด อันจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง


    อ้างอิง

    1. คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้. (2543). (ร่าง) การปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด. เอกสารอัดสำเนา, 2543.
    2. ชาติ แจ่มนุช และคณะ. นักเรียนเป็นศูนย์กลางคืออย่างไร. เอกสารอัดสำเนา, มปป.
    3. ประเวศ วะสี. (2541). ปฏิรูปการศึกษา-ยกเครื่องทางปัญญา : ทางรอดจากความหายนะ. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
    4. ทิศนา แขมมณี และคณะ. (2543). การพัฒนากระบวนการคิด.เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนารูปแบบการสอนที่เน้นกระบวนการคิดตามแนวปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้. นครปฐม : ศูนย์ศึกษาพัฒนาครู คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม.
    5. วิชัย วงษ์ใหญ่.พลังการเรียนรู้. (2542). ในกระบวนการทัศน์ใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 4), กรุงเทพหานคร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
    6. สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2543). การเรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลสมัยจำกัด.
    7. อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2544). การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. วารสารครุสาร คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2544.
    8. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 [Online]. แหล่งที่มา: http://www.gad.ku.ac.th ออนไลน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2558
    9. Ausubel, David P. (1963). The Psychology of Meaningful Verbal learning. New Yok:Grune and Stration.
    10. Biehler. Robert F. (1974). Psychology Applied to Teaching. Boston; Houghton Miffin Comp.1971.1974 (2nd ed).
  • แรงจูงใจ (Motivation)

    แรงจูงใจ (Motivation)

    แรงจูงใจ คือพลังผลักดันให้คนมีพฤติกรรม และยังกำหนดทิศทางและเป้าหมาย ของพฤติกรรมนั้นด้วย คนที่มีแรงจูงใจสูง จะใช้ความพยายามในการกระทำไปสู่เป้าหมายโดยไม่ลดละ แต่คนที่มีแรงจูงใจต่ำ จะไม่แสดงพฤติกรรม หรือไม่ก็ล้มเลิก การกระทำ ก่อนบรรลุเป้าหมายความหมายของแรงจูงใจ และการจูงใจ (Definition of motive and motivation) แรงจูงใจ (motive) เป็นคำที่ได้ความหมายมาจากคำภาษาละตินที่ว่า movereซึ่งหมายถึง “เคลื่อนไหว (move)” ดังนั้น คำว่าแรงจูงใจจึงมีการให้ความหมายไว้ต่างๆ กันดังนี้

    1. ความหมายของแรงจูงใจและการจูงใจ

    แรงจูงใจ คือพลังผลักดันให้คนมีพฤติกรรม และยังกำหนดทิศทางและเป้าหมาย ของพฤติกรรมนั้นด้วย คนที่มีแรงจูงใจสูง จะใช้ความพยายามในการกระทำไปสู่เป้าหมายโดยไม่ลดละ แต่คนที่มีแรงจูงใจต่ำ จะไม่แสดงพฤติกรรม หรือไม่ก็ล้มเลิก การกระทำ ก่อนบรรลุเป้าหมายความหมายของแรงจูงใจ และการจูงใจ (Definition of motive and motivation) แรงจูงใจ (motive) เป็นคำที่ได้ความหมายมาจากคำภาษาละตินที่ว่า movereซึ่งหมายถึง “เคลื่อนไหว (move)” ดังนั้น คำว่าแรงจูงใจจึงมีการให้ความหมายไว้ต่างๆ กันดังนี้

    แรงจูงใจ หมายถึง “บางสิ่งบางอย่างที่อยู่ภายในตัวของบุคคลที่มีผลทำให้บุคคลต้องกระทำ หรือเคลื่อนไหว หรือมี พฤติกรรม ในลักษณะที่มีเป้าหมาย” (Walters.1978 :218) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แรงจูงใจเป็นเหตุผล ของการกระทำ นั่นเอง

    แรงจูงใจ หมายถึง “สภาวะที่อยู่ภายในตัวที่เป็นพลัง ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ไปในทิศทางที่มีเป็าหมาย ที่ได้เลือกไว้แล้ว ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายที่มีอยู่นภาวะสิ่งแวดล้อม” (Loundon and Bitta.1988:368)

    จากความหมายนี้จะเห็นได้ว่า แรงจูงใจจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ

    1) เป็นกลไกที่ไปกระตุ้นพลังของร่างกายให้เกิดการกระทำ และ

    2) เป็นแรงบังคับให้กับพลังของร่างกายที่จะกระทำอย่างมีทิศทาง

    ส่วนการจูงใจ (motivation) เป็นเงื่อนไขของการได้รับการกระตุ้นโดยมีการให้ความหมายไว้ ดังนี้

    การจูงใจ หมายถึง “แรงขับเคลื่อนที่อยู่ภายในของบุคคลที่กระตุ้นให้บุคคลมีการกระทำ” (Schiffman and Kanuk. 1991:69)

    การจูงใจ เป็นภาวะภายใน ของบุคคล ที่ถูกกระตุ้นให้กระทำพฤติกรรมอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง (แอนนิต้า อี วูลฟอล์ค Anita E. Woolfolk 1995)การจูงใจเป็นภาวะในการเพิ่มพฤติกรรม การกระทำหรือกิจกรรมของบุคคล โดยบุคคลจงใจ กระทำพฤติกรรม นั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ ต้องการ (ไมเคิล ดอมแจน Domjan1996) จากคำอธิบายและความหมายดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า

    การจูงใจ เป็นกระบวนการที่บุคคลถูก กระตุ้นจากสิ่งเร้าโดยจงใจ ให้กระทำหรือดิ้นรนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมที่เกิดจาก การจูงใจ เป็นพฤติกรรม ที่มิใช่เป็นเพียงการตอบสนองสิ่งเร้าปกติธรรมดา แต่ต้องเป็นพฤติกรรมที่มีความเข้มข้น มีทิศทางจริงจัง มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการไปสู่จุดใด และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจาก แรงผลักดัน หรือ แรงกระตุ้น ที่เรียกว่า แรงจูงใจ ด้วย

    2. ความสำคัญของแรงจูงใจและการจูงใจ

    การจูงใจมีอิทธิผลต่อผลผลิต ผลิตผลของงานจะมีคุณภาพดี มีปริมาณมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ การจูงใจในการทำงาน ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าอะไร คือแรงจูงใจที่จะทำให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่ และไม่ใช่เรื่องง่ายในการจูงใจพนักงาน เพราะ พนักงานตอบสนองต่องานและวิธีทำงานขององค์กรแตกต่างกัน การจูงใจพนักงานจึงมี ความสำคัญ สามารถสรุปความสำคัญของการจูงใจในการทำงานได้ดังนี้

    1. พลัง (Energy) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการกระทำ หรือ พฤติกรรมของมนุษย์ ในการทำงานใดๆ ถ้าบุคคลมี แรงจูงใจ ในการทำงานสูง ย่อมทำให้ขยันขันแข็ง กระตือรือร้น กระทำให้สำเร็จ ซึ่งตรงกันข้ามกับ บุคคลที่ทำงานประเภท “เช้าชาม เย็นชาม” ที่ทำงานเพียงเพื่อให้ผ่านไปวันๆ
    2. ความพยายาม (Persistence) ทำให้บุคคลมีความมานะ อดทน บากบั่น คิดหาวิธีการนำความรู้ความสามารถ และ ประสบการณ์ของตน มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานให้มากที่สุด ไม่ท้อถอยหรือละความพยายามง่ายๆ แม้งาน จะมีอุปสรรคขัดขวาง และเมื่องานได้รับผลสำเร็จ ด้วยดีก็มักคิดหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
    3. การเปลี่ยนแปลง (variability) รูปแบบการทำงานหรือวิธีทำงานในบางครั้ง ก่อให้เกิการค้นพบช่องทาง ดำเนินงาน ที่ดีกว่า หรือประสบ ผลสำเร็จมากกว่า นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องหมายของ ความเจริญ ก้าวหน้า ของบุคคล แสดงให้เห็นว่า บุคคลกำลังแสวงหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ชีวิต บุคคลที่มี แรงจูงใจ ในการทำงานสูง เมื่อดิ้นรน เพื่อจะบรรลุ วัตถุประสงค์ใดๆ หากไม่สำเร็จบุคคล ก็มักพยายามค้นหา สิ่งผิดพลาด และพยายามแก้ไข ให้ดีขึ้นในทุก วิถีทาง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การทำงานจน ในที่สุดทำให้ค้นพบแนวทาง ที่เหมาะสมซึ่ง อาจจะต่างไป จากแนวเดิม
    4. บุคคลที่มีแรงจูงใจในการทำงาน จะเป็นบุคคลที่มุ่งมั่นทำงานให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และการมุ่งมั่นทำงานที่ตนรับผิดชอบ ให้เจริญก้าวหน้า จัดว่าบุคคลผู้นั้นมี จรรยาบรรณในการทำงาน (work ethics) ผู้มีจรรยาบรรณในการทำงาน จะเป็นบุคคล ที่มีความรับผิดชอบ มั่นคงในหน้าที่ มีวินัยในการทำงาน ซึ่งลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ ผู้มีลักษณะ ดังกล่าวนี้ มักไม่มีเวลาเหลือพอที่จะคิดและทำในสิ่งที่ไม่ดี

    3. ประเภทของแรงจูงใจและการจูงใจ

    แรงจูงใจทางชีววิทยา

    แรงจูงใจทางชีววิทยาหรือแรงขับปฐมภูมิ (primary drives) เป็นแรงขับที่มีกำเนิดมาจากความต้องการทางร่างกาย และไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ (unlearned) เช่น ความหิวและความกระหาย มักจะเรียกว่าแรงขับทางสรีรวิทยา (physiological drives) นอกจากนั้นอาจมีแรงจูงใจบางอย่างที่มิได้เกิดจากการเรียนรู้เช่นกัน แต่มิได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา เช่น ความรัก ความอยากรู้อยากเห็น การกระตุ้นความรู้สึกจากการสัมผัส (sensory stimulation) เป็นต้น

    1. ความหิว (hunger) ร่างกายต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต อาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกหิวจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนและแต่ละเวลา สมองบางส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมของความหิวและการกินอาหาร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ hypothalamus
    2. ความกระหาย (Thirst) น้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับร่างกาย น้ำจะสูญเสียไปจากร่างกายในลักษณะต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางปอด ต่อมเหงื่อและไต เมื่อมีการสูญเสียน้ำเกิดขึ้นร่างกายจำเป็นจะต้องรักษาความสมดุลย์ของน้ำและอิเล็กโทรไลท์ให้คงอยู่ ความต้องการในลักษณะเช่นนี้จึงก่อให้แรงขับของความกระหาย ศูนย์ควบคุมความกระหายอยู่ที่ hypothalamus ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่ไวต่อการสูญเสียน้ำมาก
    3. แรงขับทางเพศและความเป็นมารดา (Sex and maternal drives) เราเชื่อว่าแรงขับทางเพศและความเป็นมารดา (meternal behavior) เป็นแรงขับทางสรีรวิทยา เพราะว่าในสัตว์ที่ต่ำกว่าคน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในเลือด androgens ซึ่งหลั่งออกมาจากอัณฑะ (testes) ของผู้ชายก่อให้เกิดความรู้สึกทางเพศแบบผู้ชาย estrogens ซึ่งหลั่งออกมาจากรังไข่ (ovaries) ของผู้หญิงก่อให้เกิดความรู้สึกทางเพศแบบผู้หญิง โดยปรกติความรู้สึกทางเพศในผู้หญิงจะมีมากเมื่อตอนไข่สุกและพร้อมที่จะเคลื่อนหรือเคลื่อนลงมาแล้วในมดลูก เมื่อมีกิจกรรมทางเพศในระยะนี้อาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนตัวอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องการมีตัวเด็ก (fetus) ในมดลูกกระตุ้นให้มี prolactin จากต่อมปิติวอิทตารี่ prolactin ดังกล่าวจะกระตุ้นต่อมนมทำให้มีนมหลั่งออกมาสำหรับเลี้ยงทารก prolactionยังมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมของความเป็นมารดาในแม่อีกด้วย
    4. อุณหภูมิ (Temperature) ร่างกายต้องการความอบอุ่นและความหนาวเย็นที่พอเหมาะ กล่าวคือไม่ร้อนและหนาวจนเกินไป อากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดจะก่อให้เกิดการปรับตัวทางร่างกาย เพื่อให้อุณหภูมิคงที่และเกิดแรงจูงใจในการแสวงหาเครื่องนุ่งห่ม ตัวรับ (receptors) สำหรับอุณหภูมิอยู่ที่ผิวหนัง ส่วนศูนย์ควบคุมอุณหภูมิที่ไฮโปทาลามัส
    5. การหลีกหนีความเจ็บปวด (Avoidance of pain) ความต้องการที่จะหลีกหนีภยันตรายต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
    6. ความอยากรู้อยากเห็นและการกระตุ้นความรู้สึกจากการสัมผัส (Curiosity and sensory stimulation) ถ้าเรามองดูพฤติกรรมในแต่ละวันทั้งของคนและสัตว์จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มาจากแรงขับทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวกับความอยากรู้ อยากเห็นและการกระตุ้นความรู้สึกจากการสัมผัส ตัวอย่าง คนเราต้องใช้ตามองหลายสิ่งหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน : หนังสือ รูปภาพ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ทิวทัศน์ ภูเขา การแข่งขันกีฬา รถยนต์ เสื้อผ้า และจุดสนใจอื่นๆ บางครั้งเราต้องใช้พลังงานในกิจกรรมบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การยกของ การเย็บเสื้อผ้า การเดินทาง และอื่นๆ การจูงใจมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง มิฉะนั้นคนเราจะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ แต่แรงจูงใจในกรณีเหล่านี้มิได้เป็นเรื่องทางสรีรวิทยาโดยตรง
    7. กิจกรรมและการจัดแจง (Activity and manipulation) แรงจูงใจบางอย่างมีกิจกรรมทางร่างกายและการจัดแจงเป็นเป้าประสงค์ ทั้งสัตว์และมนุษย์ต้องเสียเวลามากทีเดียว ในการเดินไปเดินมาโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน สัตว์บางอย่างเช่นหนูถีบจักร จะต้องถีบจักรให้มนุษย์อยู่เรื่อย สัตว์ชั้นสูงหรือคนชอบวุ่นวายหรือจัดแจงสิ่งของบางอย่าง เช่น เด็กเล่นง่วนอยู่กับของเล่น บางคนก็ชอบจับฉวย หยิบโน่นจับนี่
    8. แรงจูงใจเกี่ยวกับความสามารถ (Competence motive) ถ้าเราแสวงหาหลักการในการศึกษาเรื่องของความอยากรู้อยากเห็นและกิจกรรมต่างๆ เราอาจสรุปได้ว่ามีแรงจูงใจทั่วไปอย่างหนึ่งแฝงอยู่เบื้องหลัง สิ่งนี้คือแรงจูงใจสำหรับความสามารถ (motive for competence) ทั้งคนและสัตว์จะถูกจูงใจโดยแรงขับอันนี้ให้รู้จักศักยภาพ (potentialities) ของตนเองอย่างเต็มที่และการกระทำดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความพอใจด้วย

    แรงจูงใจที่ได้รับการกระตุ้น

    แรงจูงใจที่ได้รับการกระตุ้นหรือแรงขับทุติยภูมิ (secondary drives)เป็นแรงขับที่สลับซับซ้อนมากกว่าแรงขับปฐมภูมิหรือแรงจูงใจทางชีววิทยา ส่วนใหญ่เกิดจากการเรียนรู้ แต่บางทีก็ไม่ใช่ แรงขับทุกอย่างถูกเปลี่ยนแปลงได้ (modified) โดยการเรียนรู้ทำนองเดียวกับแรงขับประเภทแรก บางทีเรียกว่าแรงจูงใจทางสังคม (social motives) หรือแรงขับทางจิตใจ (psychological drives) Morgan แบ่งแรงจูงใจทางสังคมออกเป็น

    1. ความรักและความเกี่ยวเนื่อง (Affection and affiliation)
      แรงจูงใจทั้งสองอย่างนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด แต่ก็พอจะแยกออกจากกันได้ อันแรกคือความปรารถนาที่จะรักคนอื่น โดยเริ่มต้นกับแม่ของตนเอง อันหลังเป็นแรงจูงใจที่จะอยู่กับคนอื่น เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความรักและความเกี่ยวเนื่องผูกพันกับคนอื่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น แรงจูงใจเช่นนี้จะต้องมีต่อผู้อื่นด้วย นอกเหนือจากพ่อแม่และพี่น้องของตน มีการตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ
    2. การยอมรับและการยกย่องทางสังคม (Social approval and esteem)
      เมื่อคนเราเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมก็จะต้องมีความรู้สึกว่าคนได้รับการยกย่องทางสังคม สิ่งนี้ยังรวมไปถึงแรงจูงใจเกี่ยวกับสถานภาพ (status) ตำแหน่ง (rank) ชื่อเสียง (prestige) และอำนาจ (power)
    3. ความสัมฤทธิ์ (Achievement)
      แม้นักจิตวิทยาจะยอมรับว่าการยกย่องตนเอง (self-esteem) เป็นแรงจูงใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่แรงจูงใจที่มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางที่สุดกลับเป็นความต้องการของความสัมฤทธิ์ (need for achievement)
    4. ความก้าวร้าว (Aggression)
      บางคนคิดว่าความก้าวร้าวจัดอยู่ในพวกแรงจูงใจทางสังคม เนื่องจากความรุนแรง ความก้าวร้าว และสงคราม เป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งทุกวันนี้ คนส่วนมากจึงมักคิดว่าความก้าวร้าวเป็นเรื่องของสัญชาตญาณมากกว่า อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเป็นจำนวนมาก พอจะสรุปได้ว่าความก้าวร้าวเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราแย่งของเล่นมาจากเด็กทันทีทันใด เด็กจะแสดงความโกรธออกมา จากการศึกษาของ Dollard และพรรคพวก (1939) ตอนแรกพบว่า “ความคับข้องใจจะนำไปสู่ความก้าวร้าวเสมอ แต่ตอนหลังพบว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไป ความคับข้องใจทำให้เกิดผลที่ตามมาเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานการณ์ นอกจากนั้นสาเหตุของความก้าวร้าวยังมีผลตามมาเป็นอย่างอื่นได้ขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานการณ์

    4. ทฤษฏีแรงจูงใจ

    ทฤษฎีแรงจูงใจ (Theories of Motivation) มีทฤษฎีและการศึกษาเรื่องจูงใจจำนวนมากในที่นี้จะกล่าวโดยสังเขปเพื่อนำมาประยุกต์ใช่ในองค์การซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

    1. ทฤษฎีเนื้อหาของการจูงใจ (Content theories of Motivation)

    2. ทฤษฎีกระบวนการ (Process Theories)

    3. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement Theory)

    1. ทฤษฎีเนื้อหาของการจูงใจ ( Content theories of Motivation)

    ทฤษฎีนี้อธิบายถึงความต้องการหรือปรารถนาภายในของบุคคล ซึ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม หรือเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงกลไกความต้องการของพนักงาน ซึ่งได้แก่ สาเหตุที่พนักงานมีความต้องการที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (McShane and Von Glinow : 597)

    ทฤษฎีเนื้อหาเป็นที่รู้จักและยอมรับมี 4 ทฤษฎี คือ

    (1) ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

    (2) ทฤษฎีการจูงใจ ERG ของ Alderfer

    (3) ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของแมคคลีแลนด์(McClelland)

    (4) ทฤษฎีสองปัจจัยของเฮอร์ซเบอร์ก

    1.1 ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs theory)

    ทฤษฎีมนุษยวิทยา(ทรัพยากรมนุษย์)จะมองว่าเป็น “มนุษย์ที่ประสงค์จะทำงานให้สำเร็จด้วยตนเอง” เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งกำหนดโดยนักจิตวิทยา ชื่อ มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นทฤษฎีการจูงใจที่มีการกล่าวขวัญอย่างแพร่หลาย มาสโลว์มองว่าความต้องการของมนุษย์มีลักษณะเป็นลำดับขั้น จากระดับต่ำสุดไปยังระดับสูงสุด เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่นในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

    1. ความต้องการทางร่างกาย (Physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน เป็นต้น

    2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (Security or safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน

    3. ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (ความต้องการทางสังคม) (Affiliation or Acceptance needs) เป็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ความต้องการได้รับการยอมรับ การต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น

    4. ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs) หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ และสถานะจากสังคม เช่น ความต้องการได้รับความเคารพนับถือ ความต้องการมีความรู้ความสามารถ เป็นต้น

    5. ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self- actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จ ความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น

    จากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ สามารถแบ่งความต้องการออกได้เป็น2 ระดับ คือ

    1) ความต้องการในระดับต่ำ (Lower order needs) ประกอบด้วยความต้องการทางร่างกายความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง และความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ

    2) ความต้องการในระดับสูง (Higher order needs) ประกอบด้วย ความต้องการการยกย่องและความต้องการความสำเร็จในชีวิต

    1.2 ทฤษฎีการจูงใจ ERG ของ Alderfer

    เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ไม่คำนึงถึงขั้นความต้องการว่า ความต้องการใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง และความต้องการหลายๆอย่างอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ความต้องการตามทฤษฎี ERG จะมีน้อยกว่าความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประการ ดังนี้

    1. ความต้องการเพื่อความอยู่รอด (Existence needs (E))

    เป็นความต้องการพื้นฐานของร่างกายเพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น ความต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น เป็นความต้องการในระดับต่ำสุดและมีลักษณะเป็นรูปธรรมสูงสุด ประกอบด้วยความต้องการทางร่างกายบวกด้วยความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคงตามทฤษฎีของมาสโลว์ ผู้บริหารสามารถตอบสนองความต้องการในด้านนี้ได้ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีสวัสดิการที่ดี มีเงินโบนัส รวมถึงทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกมั่นคงปลอดภัยจากการทำงาน ได้รับความยุติธรรม มีการทำสัญญาว่าจ้างการทำงาน เป็นต้น

    2. ความต้องการมีสัมพันธภาพ (Relatedness needs (R))

    เป็นความต้องการที่จะให้และได้รับไมตรีจิตจากบุคคลที่แวดล้อม เป็นความต้องการที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมน้อยลง ประกอบด้วยความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (ความต้องการทางสังคม) ตามทฤษฎีของมาสโลว์ ผู้บริหารควรส่งเสริมให้บุคลากรในองค์การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อบุคคลภายนอกด้วย เช่น การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตาม เป็นต้น

    3. ความต้องการความเจริญก้าวหน้า (Growth needs (G))

    เป็นความต้องการในระดับสูงสุดของบุคคลซึ่งมีความเป็นรูปธรรมต่ำสุดประกอบด้วยความต้องการการยกย่องบวกด้วยความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตตามทฤษฎีของมาสโลว์ ผู้บริหารควรสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้าด้วยการพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือมอบหมายให้รับผิดชอบต่องานกว้างขึ้น โดยมีหน้าที่การงานสูงขึ้น อันเป็นโอกาสที่พนักงานจะก้าวไปสู่ความสำเร็จ

    1.3 ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของแมคคลีแลนด์ (McClelland)

    ทฤษฎีนี้เน้นอธิบายการจูงใจของบุคคลที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการความสำเร็จมิได้หวังรางวัลตอบแทนจากการกระทำของเขา ซึ่งความต้องการความสำเร็จนี้ในแง่ของการทำงานหมายถึงความต้องการที่จะทำงานให้ดีที่สุดและทำให้สำเร็จผลตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อตนทำอะไรสำเร็จได้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ทำงานอื่นสำเร็จต่อไป หากองค์การใดที่มีพนักงานที่แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จำนวนมากก็จะเจริญรุ่งเรืองและเติบโตเร็วในช่วงปีค.ศ. 1940s นักจิตวิทยาชื่อ David I. McClelland ได้ทำการทดลองโดยใช้แบบทดสอบการรับรู้ของบุคคล (Thematic Apperception Test (TAT)) เพื่อวัดความต้องการของมนุษย์ โดยแบบทดสอบ TAT เป็นเทคนิคการนำเสนอภาพต่างๆ แล้วให้บุคคลเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็น จากการศึกษาวิจัยของแมคคลีแลนด์ได้สรุปคุณลักษณะของคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงมีความต้องการ 3 ประการที่ได้จากแบบทดสอบTAT ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคคลได้ดังนี้

    1. ความต้องการความสำเร็จ (Need for Achievement (nAch)) เป็นความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆให้เต็มที่และดีที่สุดเพื่อความสำเร็จ จากการวิจัยของMcClelland พบว่า บุคคลที่ต้องการความสำเร็จ (nAch) สูง จะมีลักษณะชอบการแข่งขัน ชอบงานที่ท้าทาย และต้องการได้รับข้อมูลป้อนกลับเพื่อประเมินผลงานของตนเอง มีความชำนาญในการวางแผน มีความรับผิดชอบสูง และกล้าที่จะเผชิญกับความล้มเหลว

    2. ความต้องการความผูกพัน (Need for Affiliation (nAff)) เป็นความต้องการการยอมรับจากบุคคลอื่น ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลอื่น บุคคลที่ต้องการความผูกพันสูงจะชอบสถานการณ์การร่วมมือมากกว่าสถานการณ์การแข่งขัน โดยจะพยายามสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น

    3. ความต้องการอำนาจ (Need for power (nPower)) เป็นความต้องการอำนาจเพื่อมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น บุคคลที่มีความต้องการอำนาจสูง จะแสวงหาวิถีทางเพื่อทำให้ตนมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่น ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับหรือยกย่อง ต้องการความเป็นผู้นำ ต้องการทำงานให้เหนือกว่าบุคคลอื่น และจะกังวลเรื่องอำนาจมากกว่าการทำงานให้มีประสิทธิภาพจากการศึกษาพบว่าพนักงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงมักต้องการจะทำงานในลักษณะ3 ประการดังนี้

    – งานที่เปิดโอกาสให้เขารับผิดชอบเฉพาะส่วนของเขา และเขามีอิสระที่จะตัดสินใจและแก้ปัญหาด้วยตนเอง

    – ต้องการงานที่มีระดับยากง่ายพอดี ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไปกว่าความสามารถของเขา

    – ต้องการงานที่มีความแน่นอนและต่อเนื่องซึ่งสร้างผลงานได้และทำให้เขามีความก้าวหน้าในงานเพื่อจะพิสูจน์ตนเองถึงความสามารถของเขาได้

    นอกจากงานในลักษณะดังกล่าวแล้วแมคคลีแลนด์ได้พบว่าปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับงานที่เขาทำด้วย

    1.4 ทฤษฎี 2 ปัจจัยของเฮอร์ซเบอร์ก (Herzberg)

    ทฤษฎีเฮอร์ซเบอร์กเน้นอธิบายและให้ความสำคัญกับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ตัวกระตุ้น (Motivators) และการบำรุงรักษา (Hygiene) สองปัจจัยมีอิทธิพลต่อความสำเร็จของงานเป็นอย่างยิ่ง เฮอร์ซเบอร์กได้ทำการศึกษาโดยสัมภาษณ์ความพอใจและไม่พอใจทำงานของนักบัญชีและวิศวกรจำนวน 200 คน ผลการศึกษาสรุปว่าความพอใจในการทำงานกับแรงจูงใจในการทำงานของคนมีความแตกต่างกันคือการที่บุคคลพอใจในงานไม่ได้หมายความว่าคนนั้นมีแรงจูงใจในงานเสมอไป แต่ถ้าคนใดมีแรงจูงใจในการทำงานแล้วคนนั้นจะตั้งใจทำงานให้เกิดผลดีได้ ผลการศึกษาจึงแสดงให้เห็นผลของปัจจัย 2 ตัว คือด้านตัวกระตุ้นและการบำรุงรักษาต่อเจตคติงานของบุคคล

    1. ปัจจัยด้านตัวกระตุ้น (Motivator factors)

    เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในการทำงาน(Job satisfaction) ตัวกระตุ้นประกอบด้วยปัจจัย 6 ประการดังนี้

    1.1 การสัมฤทธิ์ผล คือ พนักงานมีความรู้สึกว่าเขาทำงานได้สำเร็จ

    1.2 การยอมรับนับถือจากผู้อื่น คือพนักงานมีความรู้สึกว่าเมื่อทำสำเร็จมีคนยอมรับเขา

    1.3 ลักษณะงานที่น่าสนใจ คือพนักงานรู้สึกว่างานที่ทำน่าสนใจ น่าทำ

    1.4 ความรับผิดชอบ คือพนักงานรู้สึกว่าเขาต้องรับผิดชอบตนเองและงานของเขา

    1.5 โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า คือ พนักงานรู้สึกว่าเขามีความก้าวหน้าในงานที่ทำ

    1.6 การเจริญเติบโต คือ พนักงานตระหนักว่าเขามีโอกาสที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมและมีความเชี่ยวชาญ

    2. ปัจจัยด้านการบำรุงรักษา (Hygiene Factors)

    เป็นปัจจัยที่ช่วยให้พนักงานยังคงทำงานอยู่และยังรักษาเขาไว้ไม่ให้ออกจากงานเมื่อไม่ได้จัดให้พนักงาน เขาจะไม่พอใจและไม่มีความสุขในการทำงานปัจจัยนี้ประกอบด้วย 10 ประการดังนี้

    2.1 นโยบายและการบริหารคือ พนักงานรู้สึกว่าฝ่ายจัดการมีการสื่อสารที่ดีและเขารู้ถึงนโยบายขององค์การที่เขาอยู่

    2.2 การนิเทศงาน คือพนักงานรู้สึกว่าผู้บริหารตั้งใจสอนงานและให้งานตามหน้าที่รับผิดชอบ

    2.3 ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน คือ พนักงานรู้สึกดีต่อหัวหน้างานของเขา

    2.4 ภาวะการทำงาน คือพนักงานรู้สึกดีต่องานที่ทำและสภาพการณ์ของที่ทำงาน

    2.5 ค่าตอบแทนการทำงาน คือพนักงานรู้สึกว่าค่าตอบแทนเหมาะสม

    2.6 ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน คือพนักงานมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน

    2.7 ชีวิตส่วนตัว คือพนักงานรู้สึกว่าชั่วโมงการทำงานไม่ได้กระทบต่อชีวิตส่วนตัว

    2.8 ความสัมพันธ์กับลูกน้อง คือหัวหน้างานมีความรู้สึกที่ดีต่อลูกน้อง

    2.9 สถานภาพ คือพนักงานรู้สึกว่างานเขามีตำแหน่งหน้าที่ดี

    2.10 ความมั่นคง คือพนักงานรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในงานที่ทำอยู่

    ปัจจัยบำรุงรักษาไม่ใช่สิ่งจูงใจที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เป็นข้อกำหนดที่ป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดความไม่พึงพอใจในงานที่ทำ ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้แล้วอาจก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจแก่พนักงานได้ ซึ่งพนักงานอาจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องหรือต่อรอง ผู้บริหารจึงมักจัดโครงการด้านผลประโยชน์พิเศษต่างๆ เพื่อให้พนักงานพึงพอใจ เช่น การลาป่วย การลาพักร้อน และโครงการที่เกี่ยวกับสุขภาพและสวัสดิการของพนักงาน ทฤษฎีเนื้อหา (Content theories) ยังคงได้รับความนิยมในด้านการบริหาร เพราะง่ายต่อการเข้าใจและมีการเชื่อมโยงโดยตรงที่ชัดเจนจากความต้องการกับพฤติกรรม ในขณะเดียวกันก็ไม่มีทฤษฎีใดเชื่อมโยงโดยตรงกับพฤติกรรมการจูงใจโดยผู้บริหาร ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารมักจะมีการตีความผิดพลาดและไม่เหมาะสม โดยคิดว่าพวกเขารู้ถึงความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชา

    2. ทฤษฎีกระบวนการ (Process Theories)

    โดยทั่วไปทฤษฎีเนื้อหาจะเน้นที่ลักษณะของสิ่งจูงใจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะค้นหาวิธีการปรับปรุงการจูงใจโดยเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นความต้องการ แต่ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการด้านความคิด (Thought processes) ซึ่งบุคคลเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในที่ทำงาน ทฤษฎีกระบวนการ (Process theories) จะมุ่งที่กระบวนการด้านความคิด ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกในการปฏิบัติงานของบุคคล ซึ่งมีหลายทฤษฎี ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะทฤษฎีความเสมอภาคหรือทฤษฎีความเท่าเทียมกัน (Equity theory) และทฤษฎีความคาดหวัง (Expectancy theory)

    2.1 ทฤษฎีความเสมอภาคหรือทฤษฎีความเท่าเทียมกันของ Adams

    ทฤษฎีนี้ กล่าวว่า บุคคลจะมีการเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างปัจจัยนำเข้าของตนเอง (เช่น ความพยายาม ประสบการณ์ การศึกษา และความสามารถ) และผลลัพธ์ของตนเอง (เช่น ระดับเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การยกย่อง และปัจจัยอื่นกับบุคคลอื่น) J. Stacy Adams กล่าวว่า บุคคลจะประเมินผลลัพธ์ที่เขาได้รับจากการทำงานของตนกับบุคคลอื่น ความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคจะเกิดขึ้น เมื่อบุคคลรู้สึกว่ารางวัลที่เขาได้รับจากการทำงานมีความไม่เหมาะสมโดยเปรียบเทียบกับรางวัลที่บุคคลอื่นได้รับจากการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลในเชิงลบ โดยอาจทำให้บุคคลทุ่มเทให้กับการทำงานน้อยลงหรือตัดสินใจลาออกก็ได้ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้เสนอแนะว่าบุคคลควรได้รับรู้ถึงรางวัล (ผลลัพธ์จากการทำงาน) ที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน ลักษณะสำคัญของทฤษฎีความเสมอภาคภาคแสดง ดังสมการ

    ผลลัพธ์ (Output) ของบุคคลหนึ่ง = ผลลัพธ์ (Output) ของอีกบุคคลหนึ่ง

    ปัจจัยนำเข้า (Input) ของบุคคลหนึ่ง ปัจจัยนำเข้า (Input) ของอีกบุคคลหนึ่ง

    ความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคเชิงลบ (Felt negative inequity) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลรู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรมน้อยกว่าบุคคลอื่น

    ความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคเชิงบวก (Felt positive inequity) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลรู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรมมากกว่าบุคคลอื่น

    ความไม่เสมอภาคจะเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมกันซึ่งบุคคลอาจจะแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

    1) เปลี่ยนแรงพยายามที่ใส่ลงไปเช่นลดความพยายามในการทำงาน, มาสาย, ขาดงาน

    2) ปรับหรือเปลี่ยนรางวัลที่เขาได้รับเช่นขอขึ้นเงินเดือนหรือขอเลื่อนตำแหน่ง

    3) ล้มเลิกการเปรียบเทียบ โดยลาออกจากงาน

    4) เปลี่ยนจุดเปรียบเทียบโดยเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ร่วมงานคนอื่น

    ขั้นตอนในการบริหารกระบวนการความเสมอภาค (Steps for managing the equity process) มีดังนี้

    (1) ยอมรับว่าการเปรียบเทียบความเสมอภาค (Equity comparisons) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในที่ทำงาน

    (2) คาดว่าความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาคเชิงลบ

    1. การจูงใจในชั้นเรียน

    การจูงใจในชั้นเรียนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการที่ครูจะต้องพิจารณา ได้แก่ บุคลิกภาพ พฤติกรรมการสอน เทคนิคการปกครองชั้นเรียนและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน โดยสรุปได้ดังนี้

    1. บุคลิกภาพของครู

    สภาพบรรยากาศของห้องเรียนมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของครู ครูที่มีบุคลิกภาพดี เช่น การแต่งกาย การยืน การเดน ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา เหมาะสมกับการเป็นครู จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน

    2. พฤติกรรมการสอนของครู

    พฤติกรรมการสอนของครูมีบทบาทในการสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่นักเรียน เช่นเดียวกับบุคลิกภาพของครู ในการสอนครูต้องใช้ เทคนิคและทักษะการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับนักเรียนและบทเรียน เพื่อให้นัก เรียนเกิดความรู้ เจตคติ และทักษะตามที่หลักสูตรกำหนด

    3. เทคนิคการปกครองชั้นเรียนของครู

    เทคนิคหรือวิธีการที่ครูใช้ปกครองชั้นเรียนมีส่วนส่งเสริมในการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยากล่าวคือ ถ้าครูปกครองชั้นเรียน ด้วยความยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอม รับ ยินดีปฏิบัติ นักเรียนก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุข เกิดความรู้สึกอบอุ่นพอใจและสบายใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าครูโลเล ไม่ยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง ปกครองชั้นเรียนแบบเผด็จการ นักเรียนจะเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาครู ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบ กฎเกณฑ์ ส่งผลให้นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่อยากมาโรงเรียนในที่สุด ดังนั้น เทคนิควิธีการปกครองชั้นเรียนของครูจึงมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาด้วย

    4. ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนปฏิสัมพันธ์ (interaction)

    หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล 2 คน หรือบุคคล 2 ฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวาจานั้นควรใช้อิทธิพลทางอ้อม (Indirect Influence) ซึ่ง หมายถึง พฤติกรรมทางวาจาที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น เช่น ครู ยอมรับความรู้สึกของนักเรียน ครูชมเชยสนับสนุนให้กำลังใจ ครูยอมรับหรือนำ ความคิดเห็นของนักเรียนมาใช้ ครูถามเพื่อให้นักเรียนตอบ ฯลฯ โดยครูหลีก เลี่ยงการใช้อิทธิพลทางตรง (Direct Influence) ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมที่ครูแสดงฝ่ายเดียว เช่น ครูบรรยาย ครูสั่งการ ครูวิจารณ์ ฝ่ายเดียว ฯลฯ ดังนั้น ครูควรสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวาจาโดยใช้อิทธิพลทางอ้อม เพื่อส่งผลดีต่อการเรียนการสอน

    โดยสรุปแล้ว การจูงใจในชั้นเรียนมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดี ต่อการเรียนการสอนและเกิดความศรัทธาในครูผู้สอน ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา โดยปรับบุคลิกภาพความ เป็นครูให้เหมาะสมปรับพฤติกรรมการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี มีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

    สรุป

    ในการเรียนการสอน ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดการจูงใจในการเรียน เพราะ แรงจูงใจ คือพลังผลักดันให้คนมีพฤติกรรม และยังกำหนดทิศทางและเป้าหมาย ของพฤติกรรมนั้นด้วย คนที่มีแรงจูงใจสูง จะใช้ความพยายามในการกระทำไปสู่เป้าหมายโดยไม่ลดละ แต่คนที่มีแรงจูงใจต่ำ จะไม่แสดงพฤติกรรม หรือไม่ก็ล้มเลิก การกระทำ ก่อนบรรลุเป้าหมาย ซึ่งการจูงใจในการเรียนแบ่งออกได้2ประเภท 1การจูงใจภายใน หมายถึง การกระตุ้นความต้องการความสนใจ และความอยากรู้อยากเห็นในตัวผู้เรียนออกมา 2 การจูงใจภายนอก หมายถึง การใช้สิ่งเร้า สิ่งล่อ หรือรางวัลมาทำให้ผู้เรียนเกิดการจูงใจในการเรียน นักจิตวิทยาได้อธิบายการเกิดการจูงใจไว้มากมาย เช่นMaslow ทฤษฏีความต้องการตามลำดับ ได้อธิบายการจูงใจในลักษณะของความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นไปตามห้าขั้นตอน เริ่มจากความต้องการทางกาย ความต้องการความมั่นคงและปลอดภัย ความต้องการความรัก และความผูกพัน ความต้องการความนิยมนับถือตนเอง และความต้องการพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ ส่วนทฤษฏีความต้องการจากการเรียนรู้ของ McClelland เน้นถึงการจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่มีผลอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนการของผู้เรียน เป็นต้น ผู้สอนสามารถนำทฤษฏีการจูงใจมาปรับใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการจูงใจในการเรียนได้หลายวิธี ทั้งที่เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือการกระตุ้น/เร้าความต้องการของผู้เรียนออกมา หรือการตั้งวัตถุประสงค์ในการเรียนเพื่อให้ผู้เรียนกระตือรือร้น โดยต้องพยายามทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเองตลอดเวลา


    อ้างอิง

    1. จำลอง ดิษยวณิช. (2544). จิตวิทยาของความดับทุกข์. เชียงใหม่: บริษัทกลางเวียงการพิมพ์ จำกัด
    2. ลักขณา สรีวัฒน์. (2557). จิตวิทยาสำหรับครู. กรุงเทพ โอเดียนสโตร์.
    3. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2550). จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    4. ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2540). จิตวิทยาพัฒนการชีวิตทุกช่วงวัย แนวคิดเชิงทฤษฏีวัยเด็กตอนกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
    5. EnglerB.Personality theories. (1991). An introduction. 3rd edition. Boston: Houghton Mifflin Company.
    6. Morris C.G. (1990). Psychology. 7th edition. New Jersey: Prentice-Hall, Inc..
    7. Feldman R.S. (1994). Essential of Understanding Psychology. 2nd edition. New York: McGraw-Hill,Inc.
  • การเรียนรู้ (Learning)

    การเรียนรู้ (Learning)

    การเรียนรู้ของมนุษย์อาจเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของการศึกษา การพัฒนาส่วนบุคคล การเรียนการสอน หรือการฝึกฝน การเรียนรู้อาจมีการยึดเป้าหมายและอาจมีความจูงใจเป็นตัวช่วย การศึกษาว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาประสาทจิตวิทยา (neuropsychology) จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) ทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) และศึกษาศาสตร์ (pedagogy) การเรียนรู้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ (habituation) หรือการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ซึ่งพบในสัตว์หลายชนิด หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างเช่นการเล่น ซึ่งพบได้เฉพาะในสัตว์ที่มีเชาวน์ปัญญา การเรียนรู้อาจก่อให้เกิดความตระหนักอย่างมีสำนึกหรือไม่มีสำนึกก็ได้

    1. ความหมายของการเรียนรู้

    การเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่างๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (learning curve)

    นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น

    คิมเบิล (Kimble, 1964) “การเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง”

    ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard& Bower, 1981) “การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์”

    ครอนบาค (Cronbach) “การเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา”

    พจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Webster ‘s Third New International Dictionary) “การเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน”

    ประดินันท์ อุปรมัย (2540, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา (มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 15, หน้า 121) การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม

    2. ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้

    1. มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ (Systematic problem Solving) โดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้วงจรของ Demming (PDCA : Plan, Do, Check, Action)
    2. มีการทดลองปฏิบัติ (Experimental) ในสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อองค์การเสมอ โดยอาจจะเป็น Demonstration Project หรือเป็น Ongoing program
    3. มีการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต (Learning from their own experience) มีการบันทึกข้อมูลเป็น case study เพื่อให้สมาชิกในองค์การได้ศึกษาถึงความสำเร็จและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต มีการแลกเปลี่ยนความรู้และ ประสบการณ์ของสมาชิก
    4. มีการเรียนรู้จากผู้อื่น (Learning from the Others) โดยการใช้การสัมภาษณ์ (Interview), การสังเกต (Observation) ฯลฯ
    5. มีการถ่ายทอดความรู้โดยการทำ Report, Demonstration, Training & Education, Job Rotation ฯลฯ

    3. กระบวนการเรียนรู้

    กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความแตกต่างระหว่างบุคคลส่งผลให้ผู้เรียนมีวิธีการของตนเอง อันเกิดจากสภาวะแวดล้อม บุคลิกภาพ อารมณ์และสังคมของแต่ละบุคคล สิ่งที่ผู้เรียนได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่องทั้งในห้องเรียนและในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการในการเรียนรู้ของตนเอง แบ่งได้ตามกลุ่มของผู้เรียนที่มีลักษณะและวิธีการที่เหมือนกันออกได้เป็นหลายแบบ แนวคิดในเรื่องระดับของกระบวนการในการเรียนรู้ที่ เกร็ก และล็อคฮาร์ท (Craik and Lockhart, 1972) ได้เสนอว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่มีหลายระดับ เราสามารถเรียนรู้และจำสิ่งต่าง ๆ ที่มีความหมายกับตัวเราได้ เพราะมีการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการมากกว่าการกระตุ้นให้เรียนรู้ ความลึกของกระบวนการเรียนรู้เป็นความละเอียดของกระบวนการ การเรียนรู้แบบลึกจะทำให้เข้าใจได้ละเอียดและระลึกถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก

    แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เรียนรู้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้แบบลึกเสมอไป เพราะในการเรียนรู้บางเรื่องก็มีความต้องการเพียงแค่ ความรู้ ความจำความเข้าใจและการนำไปใช้ ในขณะที่ขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า ที่อยู่ในขั้นการเรียนรู้แบบลึก ก็อาจไม่มีความจำเป็น (Cox and Clark, 1998)

    ระดับของกระบวนการ (Level of Process) ในการเรียนรู้ ได้มีการแบ่งระดับของกระบวนการเรียนรู้โดย วัทกินส์ (Watkins, 1983) ได้แยกไว้อย่างชัดเจน คือ กระบวนการเรียนรู้แบบลึก (Deeper processing) และกระบวนการเรียนรู้แบบตื้น (Surface processing) โดยกำหนดขอบเขตของงานที่ต้องเรียนรู้ แยกผู้เรียนออกได้เป็นสองกลุ่มคือ ผู้เรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้แบบลึกคือ ผู้เรียนที่ตั้งใจที่จะเข้าใจและพยายามค้นหาถึงความหมายของสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ส่วนผู้เรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้แบบตื้นคือ ผู้เรียนที่ตั้งใจจะใช้เพียงการจำข้อมูลเท่านั้น

    บิกกส์ และเทลเฟอร์ (Biggs and Telfer, 1987) ได้อธิบายความหมายของ กระบวนการเรียนรู้แบบลึก กับกระบวนการเรียนรู้แบบตื้นเอาไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้แบบลึก เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยแรงจูงใจภายใน (Intensive motivation) ในการทำงานที่ต้องใช้วิธีการที่เป็นเหตุเป็นผล โดยมีความพึงพอใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นการค้นหาอย่างมีความหมายโดยการอ่านอย่างมากและจนกว่าจะเข้าใจ มีความสัมพันธ์กับความรู้ที่เคยได้รับมาก่อน

    ส่วนกระบวนการเรียนรู้แบบตื้น เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยแรงจูงใจภายนอก (Extensive motivation) โดยที่ผู้เรียนจะมีการเรียนรู้ตามที่กำหนดให้หรือตามเป้าหมาย เป็นวิธีการเรียนที่จำกัดเป้าหมายที่เห็นว่าจำเป็น และใช้การจำสิ่งที่เรียนในชั้นตามปกติ การระลึกแต่เหตุผลที่ถูกต้องที่ได้จากการบรรยาย ผู้เรียนมีความเข้าใจเฉพาะที่ต้องการ ตามวัตถุประสงค์เฉพาะด้านที่จัดให้

    ความแตกต่างระหว่างกระบวนการเรียนรู้แบบลึกและแบบตื้น ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความลึกของกระบวนการ ที่ผู้เรียนจะมีทักษะการเรียนรู้ต่างกัน ซึ่ง ฮวง และบอนเซน (Huang and Bonzon, 1995) ได้อธิบายเอาไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้แบบลึก ผู้เรียนต้องค้นหาให้ชัดเจนว่ามีอะไรซ่อนอยู่ภายในตัวผู้เรียน มีกระบวนการ ลำดับขั้นและวิธีการคิด ที่นำไปสู่วิธีการในการปัญหา ขณะที่กระบวนการเรียนรู้แบบตื้น ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้อย่างกว้าง ๆ และได้ความเข้าใจตามที่ได้รับการอธิบายหรือบอกกล่าว

    กระบวนการเรียนรู้แบบลึกเป็นความละเอียดของกระบวนการ เข้าถึงในรายละเอียดของเนื้อหาการเข้าถึงข้อมูลของกระบวนการเรียนรู้แบบลึกจึงกระทำได้มากกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบตื้น การเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากกระทำได้ดีในผู้เรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้แบบลึก แต่ถ้าเนื้อหาที่เรียนรู้มีปริมาณมากและไม่มีความซับซ้อน ผู้ที่มีกระบวนเรียนรู้แบบลึกก็จะเสียเวลาในการค้นคว้ามาก และได้ข้อมูลที่ไม่จำเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนจึงยากที่จะทำให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีกระบวนการเรียนรู้ลึก ขณะที่ผู้มีกระบวนการเรียนรู้ตื้นสามารถใช้วิธีการสอนในแบบใดก็ได้ เพราะผู้เรียนจะสนใจในเนื้อหากว้าง ๆ และจำในสิ่งที่จัดให้เป็นหลักโดยไม่ลงลึกไปในรายละเอียดของเนื้อหานั้น สเปนเซอร์ (Spensor, 1988) สรุปแนวคิดของทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้ในแบบลึกและแบบตื้นว่า ทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การที่คนเราจำและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างมีความหมายได้ เกิดจากการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการมากกว่าการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ โดยกระบวนการจะมีหลายระดับตามสิ่งเร้าที่กระทำ

    4. การเรียนรู้กับการเรียนการสอน

    ทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ถูกรวบรวมเป็นองค์รวมเป็นชุดของหลักการต่าง ๆ เพื่อ อธิบายเหตุผลการได้มาขององค์ความรู้ การรักษาไว้และการเรียกใช้องค์ความรู้ในแต่ละบุคคลได้ อย่างไรทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ท่านกำหนดเบ้าหลอมผู้เรียนและกำหนดคำทำนายเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ด้วยตัวท่านเอง สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นแนวทางช่วยให้เราเลือกใช้เครื่องมือในการเรียนการสอน เทคนิค และวิธีการต่างๆ วิธีการที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ และทำให้นักเรียนบรรลุตามจุดประสงค์ในรายวิชาอย่างมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์ พวกเราควรจะอภิปรายทฤษฎีการเรียนรู้ ทั้งสามทฤษฎีเหล่านี้ คือ พฤติกรรมนิยม, การประมวลผลสารสนเทศทางปัญญา, และการสร้างสรรค์ความรู้ ด้วยปัญญา (behaviorism, cognitive information Processing, and Constructivism)

    หลักสูตรที่มีลักษณะขดลวดเป็นวง“spiral” ทำงานได้ดีสำหรับบางรายวิชา หรือระดับของโปรแกรม (หลักสูตร) ในรายวิชาหนึ่งอาจจะหมุนเวียนสลับไปมาหรือหมุนเป็นวงกลมตลอดแตกต่างกันเป็นระยะๆหรือเป็นช่วง ๆ หรือหมุนเวียนสลับทฤษฎีการเรียนรู้ในรายวิชา ตัวอย่างเช่นในรายวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน การเริ่มต้นของรายวิชานี้ ครูผู้สอนจัดการเรียนการสอนควรใช้รูปแบบพฤติกรรมนิยมและควรมีคำสั่งมาก ๆ เพราะว่าผู้เรียนยังไม่มีประสบการณ์เลย เมื่อผู้เรียนมีประสบการณ์บ้างแล้ว ผู้สอนสามารถขยับไปใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศทางปัญญาได้ใช้ อย่างเช่น การแก้ปัญหาและการจำแนกแยกแยะที่จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดระดับสูง เราจะสามารถขยับไปยังแนว Constructivism และพัฒนาความก้าวหน้าในการแเก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สอนนำเสนอความคิดรวบยอดใหม่ในบทเรียนใหม่อีก ในโอกาสต่อไป เขาควรวกลับไปยังรูปแบบพฤติกรรมนิยมอีกครั้งในการสอนความคิดรวบยอดใหม่ การหมุนเวียนแบบนี้ กระทำไปอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งรายวิชาหรือทั้งระดับโปรแกรม (หลักสูตร)

    ทฤษฎีการเรียนรู้ (Theory of Learning)ทฤษฎีการเรียนรู้มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการกำหนดปรัชญาการศึกษาและการจัดประสบการณ์ เนื่องจากทฤษฎีการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อธิบายถึงกระบวนการ วิธีการและเงื่อนไขที่จะทาให้เกิดการเรียนรู้และตรวจสอบว่าพฤติกรรมของมนุษย์ มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

    4.1 ทฤษฎีกลุ่มสัมพันธ์ต่อเนื่อง (Associative Theories)

    ทฤษฎีนี้เห็นว่าการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) และการตอบสนอง (Response) ปัจจุบันเรียกนักทฤษฎีกลุ่มนี้ว่า “พฤติกรรมนิยม” (Behaviorism) ซึ่งเน้นเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมที่มองเห็น และสังเกตได้มากกว่ากระบวนการคิด และปฏิกิริยาภายในของผู้เรียนทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มนี้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ ดังนี้

    4.1.1 ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theories)

    1) ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical ConditioningTheories)อธิบายถึงการเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับการ ตอบสนอง พฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) หรือ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องอารมณ์ ความรู้สึก บุคคลสำคัญของทฤษฎีนี้ ได้แก่

    1. Ivan P. Pavlov นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย (1849 – 1936) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างการตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามธรรมชาติที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (Unconditioned Stimulus = UCS) และสิ่งเร้า ที่เป็นกลาง (NeutralStimulus) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งเร้าที่เป็นกลางให้กลายเป็นสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (ConditionedStimulus = CS) และการตอบสนองที่ไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned Response = UCR) เป็นการตอบสนองที่มีเงื่อนไข (Conditioned Response = CR)

    ลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นดังนี้

    1) ก่อนการวางเงื่อนไข UCS (อาหาร) UCR (น้ำลายไหล) สิ่งเร้าที่เป็นกลาง (เสียงกระดิ่ง) น้ำลายไม่ไหล

    2) ขณะวางเงื่อนไข CS (เสียงกระดิ่ง) + UCS (อาหาร) UCR (น้ำลายไหล)

    3) หลังการวางเงื่อนไข CS (เสียงกระดิ่ง) CR (น้าลายไหล) หลักการเกิดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข (CR) เกิดจากการนาเอาสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) มาเข้าคู่กับสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (UCS) ซ้ากันหลายๆ ครั้ง ต่อมาเพียงแต่ให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) เพียงอย่างเดียวก็มีผลทาให้เกิดการตอบสนองในแบบเดียวกันผลจากการทดลอง Pavlov

    สรุปหลักเกณฑ์ของการเรียนรู้ได้ 4 ประการ คือ

    1) การดับสูญหรือการลดภาวะ (Extinction) เมื่อให้ CR นานๆ โดยไม่ให้ UCS เลย การตอบสนองที่มีเงื่อนไข (CR) จะค่อยๆ ลดลงและหมดไป

    2) การฟื้นกลับหรือการคืนสภาพ (Spontaneous Recovery) เมื่อเกิดการดับสูญของการตอบสนอง (Extinction) แล้วเว้นระยะการวางเงื่อนไขไปสักระยะหนึ่ง เมื่อให้ CS จะเกิด CR โดยอัตโนมัติ

    3) การแผ่ขยาย หรือ การสรุปความ (Generalization) หลังจากเกิดการตอบสนองที่มีเงื่อนไข (CR) แล้ว เมื่อให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) ที่คล้ายคลึงกัน จะเกิดการตอบสนองแบบเดียวกัน

    4) การจำแนกความแตกต่าง (Discrimination) เมื่อให้สิ่งเร้าใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข จะมีการจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้า และมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน

    2. John B. Watson นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (1878 -1958) ได้ทำการทดลองการวางเงื่อนไขทางอารมณ์กับเด็กชายอายุประมาณ 11 เดือน โดยใช้หลักการเดียวกับ Pavlov หลังการทดลองเขาสรุปหลักเกณฑ์การเรียนรู้ได้ ดังนี้วัตสัน ได้ทำการทดลองโดยให้เด็กคนหนึ่งเล่นกับหนูขาว และขณะที่เด็กกำลังจะจับหนูขาว ก็ทำเสียงดังจนเด็กตกใจร้องไห้ หลังจากนั้นเด็กจะกลัวและร้องไห้เมื่อเห็นหนูขาว ต่อมาทดลองให้นำหนูขาวมาให้เด็กดู โดยแม่จะกอดเด็กไว้ จากนั้นเด็กก็จะค่อย ๆ หายกลัวหนูขาวจากการทดลองดังกล่าว วัตสันสรุปเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ ดังนี้

    1) พฤติกรรมเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมให้เกิดขึ้นได้ โดยการควบคุมสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขให้สัมพันธ์กับสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และการเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ

    2) เมื่อสามารถทาให้เกิดพฤติกรรมใด ๆ ได้ ก็สามารถลดพฤติกรรมนั้นให้หายไปได้

    ลักษณะของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก

    1. การตอบสนองเกิดจากสิ่งเร้า หรือสิ่งเร้าเป็นตัวดึงการตอบสนองมา

    2. การตอบสนองเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้จงใจ

    3. ให้ตัวเสริมแรงก่อน แล้วผู้เรียนจึงจะตอบสนอง เช่น ให้ผงเนื้อก่อนจึงจะมีน้ำลายไหล

    4. รางวัลหรือตัวเสริมแรงไม่มีความจาเป็นต่อการวางเงื่อนไข

    5. ไม่ต้องทาอะไรกับผู้เรียน เพียงแต่คอยจนกระทั่งมีสิ่งเร้ามากระตุ้นจึงจะเกิดพฤติกรรม

    6. เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาสะท้อนและอารมณ์ ซึ่งมีระบบประสาทอัตโนมัติเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ของความแตกต่างระหว่างบุคคล

    การนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการสอน

    1. ครูสามารถนาหลักการเรียนรู้ของทฤษฎีนี้มาทาความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดี รวมทั้งเจตคติต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น วิชาที่เรียน กิจกรรม หรือครูผู้สอน เพราะเขาอาจได้รับการวางเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็เป็นได้

    2. ครูควรใช้หลักการเรียนรู้จากทฤษฎีปลูกฝังความรู้สึกและเจตคติที่ดีต่อเนื้อหาวิชา กิจกรรมนักเรียน ครูผู้สอนและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดในตัวผู้เรียน3.ครูสามารถป้องกันความรู้สึกล้มเหลว ผิดหวัง และวิตกกังวลของผู้เรียนได้โดยการส่งเสริมให้กาลังใจในการเรียนและการทากิจกรรม ไม่คาดหวังผลเลิศจากผู้เรียน และหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือลงโทษผู้เรียนอย่างรุนแรงจนเกิดการวางเงื่อนไขขึ้น กรณีที่ผู้เรียนเกิดความเครียด และวิตกกังวลมาก ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ผ่อนคลายความรู้สึกได้บ้างตามขอบเขตที่เหมาะสม

    2) ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory )

    B.F. Skinnerการเรียนรู้ตามแนวคิดของสกินเนอร์ เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเช่นเดียวกัน แต่สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองมากกว่าสิ่งเร้า จึงมีคนเรียกว่าเป็นทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบ Type R นอกจากนี้สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการเสริมแรง(Reinforcement) ว่ามีผลทาให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทนถาวร ยิ่งขึ้นด้วย สกินเนอร์ได้สรุปไว้ว่าอัตราการเกิดพฤติกรรมหรือการตอบสนองขึ้นอยู่กับผลของการกระทา คือ การเสริมแรง หรือการลงโทษทั้งทางบวกและทางลบทฤษฎีการวางเขื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ (Skinners OperantConditioning Theory) B.F. Skinner (1904 – 1990) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทาการทดลองด้านจิตวิทยาการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การเรียนรู้ที่มีการตอบสนองแบบแสดงการกระทา (Operant Behavior)สกินเนอร์ได้แบ่งพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตไว้ 2 แบบ คือ

    1) Respondent Behavior พฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือเป็นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ซึ่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น การกระพริบตาน้าลายไหล หรือการเกิดอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ

    2) Operant Behavior พฤติกรรมที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเป็นผู้กำหนด หรือเลือกที่จะแสดงออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกในชีวิตประจาวัน เช่น กิน นอน พูดเดิน ทางาน ขับรถ ฯลฯ.การเรียนรู้ตามแนวคิดของสกินเนอร์ เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเช่นเดียวกัน แต่สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองมากกว่าสิ่งเร้า จึงมีคนเรียกว่าเป็นทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบ Type R นอกจากนี้สกินเนอร์ให้ความสาคัญต่อการเสริมแรง (Reinforcement)ว่ามีผลทาให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทนถาวร ยิ่งขึ้นด้วย สกินเนอร์ได้สรุปไว้ว่า อัตราการเกิดพฤติกรรมหรือการตอบสนองขึ้นอยู่กับผลของการกระทา คือ การเสริมแรง หรือการลงโทษ ทั้งทางบวกและทางลบ

    ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำมีการนำหลักการมาประยุกต์ใช้ คือ

    1. การเสริมแรงและการลงโทษ

    1.1 การเสริมแรง (Reinforcement) คือการทาให้อัตราการตอบสนองหรือความถี่ของการแสดงพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการได้รับสิ่งเสริมแรง (Reinforce) ที่เหมาะสม การเสริมแรงมี 2 ทาง ได้แก่

    1) การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement )เป็นการให้สิ่งเสริมแรงที่บุคคลพึงพอใจ มีผลทาให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น

    2) การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement)เป็นการนาเอาสิ่งที่บุคคลไม่พึงพอใจออกไป มีผลทาให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น

    1.2 การลงโทษ (Punishment) คือ การทาให้อัตราการตอบสนองหรือความถี่ของการแสดงพฤติกรรมลดลง การลงโทษมี 2 ทาง ได้แก่

    1) การลงโทษทางบวก (Positive Punishment) เป็นการให้สิ่งเร้าที่บุคคลที่ไม่พึงพอใจ มีผลทาให้บุคคลแสดงพฤติกรรมลดลง

    2) การลงโทษทางลบ (Negative Punishment) เป็นการนาสิ่งเร้าที่บุคคลพึงพอใจ หรือสิ่งเสริมแรงออกไป มีผลทาให้บุคคลแสดงพฤติกรรมลดลง

    2. การปรับพฤติกรรมและการแต่งพฤติกรรม

    2.1 การปรับพฤติกรรม (Behavior Modification) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มาเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยใช้หลักการเสริมแรงและการลงโทษการแต่งพฤติกรรม (Shaping Behavior) เป็นการเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมใหม่ โดยใช้วิธีการเสริมแรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเกิดพฤติกรรมตามต้องการ

    3. บทเรียนสำเร็จรูป (Programmed Instruction) เป็นบทเรียนโปรแกรมที่นักการศึกษา หรือครูผู้สอนสร้างขึ้นประกอบด้วย เนื้อหา กิจกรรม คำถามและ คำเฉลย การสร้างบทเรียนโปรแกรมใช้หลักของ Skinner คือเมื่อผู้เรียนศึกษาเนื้อหาและทำกิจกรรม จบ 1 บท จะมีคำถามยั่วยุให้ทดสอบความรู้ความสามารถ แล้วมีคำเฉลยเป็นแรงเสริมให้อยากเรียนบทต่อๆ ไปอีก

    1.1.2 ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theories)

    1) ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) Edward L. Thorndike (1874 – 1949)

    นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น”บิดาแห่งจิตวิทยาการศึกษา” ขาเชื่อว่า “คนเราจะเลือกทาในสิ่งก่อให้เกิดความพึงพอใจและจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทาให้ไม่พึงพอใจ” จากการทดลองกับแมวเขาสรุปหลักการเรียนรู้ได้ว่า เมื่อเผชิญกับปัญหาสิ่งมีชีวิตจะเกิดการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก (Trial and Error) นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการเสริมแรงว่าเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นกฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์

    1. กฎแห่งผล (Law of Effect) มีใจความสาคัญคือ ผลแห่งปฏิกิริยาตอบสนองใดที่เป็นที่น่าพอใจ อินทรีย์ย่อมกระทาปฏิกิริยานั้นซ้าอีกและผลของปฏิกิริยาใดไม่เป็นที่พอใจบุคคลจะหลีกเลี่ยงไม่ทาปฏิกิริยานั้นซ้ำอีก

    2. กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) มีใจความสาคัญ ๓ ประเด็น

    2.1 ถ้าอินทรีย์พร้อมที่จะเรียนรู้แล้วได้เรียน อินทรีย์จะเกิดความพอใจ

    2.2 ถ้าอินทรีย์พร้อมที่จะเรียนรู้แล้วไม่ได้เรียนจะเกิดความรำคาญใจ

    2.3 ถ้าอินทรีย์ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้แล้วถูกบังคับให้เรียนจะเกิดความรำคาญใจ

    3. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) มีใจความสำคัญคือ พฤติกรรมใดที่ได้มีโอกาสกระทาซ้ำบ่อยๆ และมีการปรับปรุงอยู่เสมอ ย่อมก่อให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญ สิ่งใดที่ทอดทิ้งไปนานย่อมกระทาได้ไม่ดีเหมือนเดิมหรืออาจทำให้ลืมได้

    การนำหลักการมาประยุกต์ใช้

    1. การสอนในชั้นเรียนครูควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน จัดแบ่งเนื้อหาเป็นลำดับเรียงจากง่ายไปยาก เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจติดตามบทเรียนอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาที่เรียนควรมีประโยชน์ต่อชีวิตประจาวันของผู้เรียน

    2. ก่อนเริ่มสอนผู้เรียนควรมีความพร้อมที่จะเรียน ผู้เรียนต้องมีวุฒิภาวะเพียงพอและไม่ตกอยู่ในสภาวะบางอย่าง เช่น ป่วย เหนื่อย ง่วง หรือ หิว จะทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพ

    3. ครูควรจัดให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกฝนและทบทวนสิ่งที่เรียนไปแล้ว แต่ไม่ควรให้ทำซ้ำซากจนเกิดความเมื่อยล้าและเบื่อหน่าย

    4. ครูควรให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพึงพอใจและรู้สึกประสบผลสำเร็จในการทากิจกรรม โดยครูต้องแจ้งผลการทำกิจกรรมให้ทราบ หากผู้เรียนทาได้ดีควรชมเชยหรือให้รางวัล หากมีข้อบกพร่องต้องชี้แจงเพื่อการปรับปรุงแก้ไข

    2) ทฤษฎีสัมพันธ์ต่อเนื่อง (S-R Contiguity Theory)

    2.1) Edwin R. Guthrieนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความใกล้ชิดต่อเนื่องระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ถ้ามีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดและแนบแน่นเพียงครั้งเดียวก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้ (One Trial Learning ) เช่น ประสบการณ์ชีวิตที่วิกฤตหรือรุนแรงบางอย่าง ได้แก่ การประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ฯลฯทฤษฎีการเรียนรู้ที่มองเห็นความสำคัญของกระบวนการคิดซึ่งเกิดขึ้นภายในตัวบุคคลในระหว่างการเรียนรู้มากกว่าสิ่งเร้าและการตอบสนอง นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า พฤติกรรมหรือการตอบสนองใดๆ ที่บุคคลแสดงออกมานั้นต้องผ่านกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งหมายถึงการหยั่งเห็น (Insight) คือความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหา โดยจัดระบบการรับรู้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม

    4.2 ทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Theories)

    ทฤษฎีการเรียนรู้ที่มองเห็นความสำคัญของกระบวนการคิดซึ่งเกิดขึ้นภายในตัวบุคคลในระหว่างการเรียนรู้มากกว่าสิ่งเร้าและการตอบสนอง นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่า พฤติกรรมหรือการตอบสนองใดๆ ที่บุคคลแสดงออกมานั้นต้องผ่านกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งหมายถึงการหยั่งเห็น (Insight) คือความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหา โดยการจัดระบบการรับรู้แล้วเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม

    4.2.1 ทฤษฎีกลุ่มเกสตัลท์ (Gestalts Theory) นักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) ชาวเยอรมัน

    ประกอบด้วย MaxWertheimer, Wolfgang Kohler และ Kurt Koftkaซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับการรับรู้ (Perception) การเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เก่าและใหม่ นำไปสู่กระบวนการคิดเพื่อการแก้ปัญหา (Insight)องค์ประกอบของการเรียนรู้ มี 2 ส่วน คือ

    1) การรับรู้ (Perception) เป็นกระบวนการแปลความหมายของสิ่งเร้าที่มากระทบประสาทสัมผัส ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการรับรู้เป็นส่วนรวมที่สมบูรณ์มากกว่าการรับรู้ส่วนย่อยทีละส่วน

    2) การหยั่งเห็น (Insight) เป็นการรู้แจ้ง เกิดความคิดความเข้าใจแวบเข้ามาทันทีทันใดขณะที่บุคคลกาลังเผชิญปัญหาและจัดระบบการรับรู้ ซึ่งเดวิส (Davis, 1965) ใช้คาว่า Aha experienceหลักของการหยั่งเห็นสรุปได้ดังนี้

    2.1) การหยั่งเห็นขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา การหยั่งเห็นจะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีการรับรู้องค์ประกอบของปัญหาที่สัมพันธ์กัน บุคคลสามารถสร้างภาพในใจเกี่ยวกับขั้นตอนเหตุการณ์ หรือสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อพยายามหาคำตอบ

    2.2) คำตอบที่เกิดขึ้นในใจถือว่าเป็นการหยั่งเห็น ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้บุคคลจะนามาใช้ในโอกาสต่อไปอีก

    2.3) คำตอบหรือการหยั่งเห็นที่เกิดขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ ใช้ในสถานการณ์ใหม่ได้

    4.2.2 ทฤษฎีสนามของเลวิน Kurt Lewin นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน (1890 – 1947)

    แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้เช่นเดียวกับกลุ่มเกสตัลท์ ที่ว่าการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากการจัดกระบวนการรับรู้ และกระบวนการคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาแต่เขาได้นาเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาร่วมอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ เขาเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์แสดงออกมาอย่างมีพลังและทิศทาง (Field of Force) สิ่งที่อยู่ในความสนใจและต้องการจะมีพลังเป็นบวก ซึ่งเขาเรียกว่า Life space สิ่งใดที่อยู่นอกเหนือความสนใจจะมีพลังเป็นลบLewin กำหนดว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ จะมี 2 ชนิด คือ

    1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical environment)

    2) สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยา (Psychological environment) เป็นโลกแห่งการรับรู้ตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับสภาพที่สังเกตเห็นโลก หมายถึง Lifespace นั่นเอง Life space ของบุคคลเป็นสิ่งเฉพาะตัว ความสำคัญที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน คือ ครูต้องหาวิธีทำให้ตัวครูเข้าไปอยู่ใน Life space ของผู้เรียนให้ได้

    การนำหลักการทฤษฎีกลุ่มความรู้ ความเข้าใจ ไปประยุกต์ใช้

    1) ครูควรสร้างบรรยากาศการเรียนที่เป็นกันเอง และมีอิสระที่จะให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ทั้งที่ถูกและผิด เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูล และเกิดการหยั่งเห็น

    2) เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายในชั้นเรียน โดยใช้แนวทางต่อไปนี้

    2.1) เน้นความแตกต่าง

    2.2) กระตุ้นให้มีการเดาและหาเหตุผล

    2.3) กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม

    2.4) กระตุ้นให้ใช้ความคิดอย่างรอบคอบ

    2.5) กำหนดขอบเขตไม่ให้อภิปรายออกนอกประเด็น

    3) การกำหนดบทเรียนควรมีโครงสร้างที่มีระบบเป็นขั้นตอน เนื้อหามีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน

    4) คำนึงถึงเจตคติและความรู้สึกของผู้เรียน พยายามจัดกิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจของผู้เรียนมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ผู้เรียนนำไปใช้ประโยชน์ได้ และควรจัดโอกาสให้ผู้เรียนรู้สึกประสบความสำเร็จด้วย

    5) บุคลิกภาพของครูและความสามารถในการถ่ายทอด จะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้เรียนมีความศรัทธาและครูจะสามารถเข้าไปอยู่ใน Life space ของผู้เรียนได้

    4.2.3 ทฤษฎีปัญญาสังคม (Social Learning Theory) Albert Bandura (1962 – 1986) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน

    เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าของตนเอง เดิมใช้ชื่อว่า “ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม” (Social LearningTheory) ต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อทฤษฎีเพื่อความเหมาะสมเป็น “ทฤษฎีปัญญาสังคม” ทฤษฎีปัญญาสังคมเน้นหลักการเรียนรู้โดยการสังเกต (Observational Learning) เกิดจากการที่บุคคลสังเกตการกระทาของผู้อื่นแล้ว

    พยายามเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคมเราสามารถพบได้ในชีวิตประจาวัน เช่น การออกเสียง การขับรถยนต์ การเล่นกีฬาประเภทต่างๆ เป็นต้นขั้นตอนของการเรียนรู้โดยการสังเกต

    1) ขั้นให้ความสนใจ (Attention Phase) ถ้าไม่มีขั้นตอนนี้ การเรียนรู้อาจจะไม่เกิดขึ้น เป็นขั้นตอน ที่ผู้เรียนให้ความสนใจต่อตัวแบบ (Modeling) ความสามารถ ความมีชื่อเสียง และคุณลักษณะเด่นของตัวแบบจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจ

    2) ขั้นจำ (Retention Phase) เมื่อผู้เรียนสนใจพฤติกรรมของตัวแบบ จะบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ไว้ในระบบความจำของตนเอง ซึ่งมักจะจดจาไว้เป็นจินตภาพเกี่ยวกับขั้นตอนการแสดงพฤติกรรม

    3) ขั้นปฏิบัติ (Reproduction Phase) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนลองแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบ ซึ่งจะส่งผลให้มีการตรวจสอบการเรียนรู้ที่ได้จดจาไว้

    4) ขั้นจูงใจ (Motivation Phase) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นแสดงผลของการกระทำ (Consequence) จากการแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบ ถ้าผลที่ตัวแบบเคยได้รับ (Vicarious Consequence) เป็นไปในทางบวก (Vicarious Reinforcement) ก็จะจูงใจให้ผู้เรียนอยากแสดงพฤติกรรมตามแบบ ถ้าเป็นไปในทางลบ (Vicarious Punishment) ผู้เรียนก็มักจะงดเว้นการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ

    หลักพื้นฐานของทฤษฎีปัญญาสังคม มี 3 ประการ คือ

    1) กระบวนการเรียนรู้ต้องอาศัยทั้งกระบวนการทางปัญญา และทักษะการตัดสินใจของผู้เรียน

    2) การเรียนรู้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ 3 ประการ ระหว่าง ตัวบุคคล (Person) สิ่งแวดล้อม (Environment) และพฤติกรรม (Behavior) ซึ่งมีอิทธิพลต่อกันและกัน

    3) ผลของการเรียนรู้กับการแสดงออกอาจจะแตกต่างกัน สิ่งที่เรียนรู้แล้วอาจไม่มีการแสดงออกก็ได้ เช่น ผลของการกระทา (Consequence) ด้านบวก เมื่อเรียนรู้แล้วจะเกิดการแสดงพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ผลการกระทาด้านลบ อาจมีการเรียนรู้แต่ไม่มีการเลียนแบบ

    การนำหลักการมาประยุกต์ใช้

    1) ในห้องเรียนครูจะเป็นตัวแบบที่มีอิทธิพลมากที่สุด ครูควรคำนึงอยู่เสมอว่าการเรียนรู้โดยการสังเกตและเลียนแบบจะเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าครูจะไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ก็ตาม

    2) การสอนแบบสาธิตปฏิบัติเป็นการสอนโดยใช้หลักการและขั้นตอนของทฤษฎีปัญญาสังคมทั้งสิ้น ครูต้องแสดงตัวอย่างพฤติกรรมที่ถูกต้องที่สุดเท่านั้น จึงจะมีประสิทธิภาพในการแสดงพฤติกรรมเลียนแบบ ความผิดพลาดของครูแม้ไม่ตั้งใจ ไม่ว่าครูจะพร่าบอกผู้เรียนว่าไม่ต้องสนใจจดจา แต่ก็ผ่านการสังเกตและการรับรู้ของผู้เรียนไปแล้ว

    3) ตัวแบบในชั้นเรียนไม่ควรจากัดไว้ที่ครูเท่านั้น ควรใช้ผู้เรียนด้วยกันเป็นตัวแบบได้ในบางกรณี โดยธรรมชาติเพื่อนในชั้นเรียนย่อมมีอิทธิพลต่อการเลียนแบบสูงอยู่แล้ว ครูควรพยายามใช้ทักษะจูงใจให้ผู้เรียนสนใจและเลียนแบบเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่ดี มากกว่าผู้ที่มีพฤติกรรมไม่ดี

    สรุป

    การทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้หมายถึง การทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือศักยภาพในตนเอง โดยให้การฝึกฝนหรือมีการจัดประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมให้กับผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความแตกต่างระหว่างบุคคลส่งผลให้ผู้เรียนมีวิธีการของตนเอง อันเกิดจากสภาวะแวดล้อม บุคลิกภาพ อารมณ์และสังคมของแต่ละบุคคล สิ่งที่ผู้เรียนได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่องทั้งในห้องเรียนและในชีวิตประจำวันทฤษฎีการเรียนรู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนมากเช่นเดียวกัน เพราะจะเป็นแนวทางในการกำหนดปรัชญาการศึกษาและการจัดประสบการณ์ เนื่องจากทฤษฎีการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อธิบายถึงกระบวนการ วิธีการและเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และตรวจสอบว่าพฤติกรรมของมนุษย์ มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

    ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือทฤษฎีกลุ่มสัมพันธ์ต่อเนื่อง (Associative Theories)ทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Theories)1) ทฤษฏีการเรียนรู้ตามแนวคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์ ซึ่งเชื่อว่าการที่มนุษย์เกิดการเรียนรู้ เนื่องจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ2) สิ่ง โดยถ้ามีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นจะมีอีกสิ่งหนึ่งตามมา 2ทฤษฏีการเรียนรู้ตามแนวคิดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเชื่อว่าบุคคลต้องเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆก่อนจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้สอนสามารถนำความรู้จากแนวคิดทฤษฏีต่างๆมาปรับใช้ในการเรียนการสอน เพื่อถ่ายทอดความรู้ ค่านิยม และทักษะให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


    อ้างอิง

    1. ประดินันท์ อุปรมัย. (2540. ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา (มนุษย์กับการเรียนรู้). พิมพ์ครั้งที่ 15. นนทบุรี.
    2. กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2545 ). รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอดิสัน เพรดโปรดักส์ จำกัด.
    3. จีรพันธ์ พูลพันธ์ และคำแก้ว ไกรสรพงษ์. (2543). การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย : ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ . กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
    4. บุหงา วัฒนะ. (2536). การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่. พระนครศรีอยุธยา : วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา .
    5. อนุบาลนครศรีธรรมราช, โรงเรียน. (2554). การจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยแบบมอนเตสซอรี่. นครศรีธรรมราช: ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ แบบมอนเตสซอรี่. (แผ่นปลิว)
    6. ประดินันท์ อุปรมัย. (2540). ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา (มนุษย์กับการเรียนรู้). พิมพ์ครั้งที่ 15. นนทบุรี.
    7. กุลยา ตันติผลาชีวะ (2545). รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอดิสัน เพรดโปรดักส์ จำกัด.
    8. จีรพันธ์ พูลพันธ์ และคำแก้ว ไกรสรพงษ์. (2543). การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย : ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
    9. บุหงา วัฒนะ. (2536). การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่. พระนครศรีอยุธยา : วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา .
    10. อนุบาลนครศรีธรรมราช, โรงเรียน . (2554). การจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยแบบมอนเตสซอรี่. นครศรีธรรมราช: ศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ แบบมอนเตสซอรี่. (แผ่นปลิว)
  • เชาวน์ปัญญา (Intelligence)

    เชาวน์ปัญญา (Intelligence)

    1. ความหมายของเชาวน์ปัญญา

    ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ปี พ.ศ.2493 ให้ความหมายของคำว่า “เชาว์ปัญญา” คือ ความสำเร็จของปัญญาและความคิด

    Dictionary of Education ให้ความหมายว่า “เชาว์ปัญญา (Intelligence) คือ ความสามารถในการปรับตัว ให้เข้าสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นผลสำเร็จ”

    Lewis Terman ให้ความหมายของเชาว์ปัญญาว่า เป็นความสามารถในการคิดเกี่ยวกับนามธรรมของแต่ละบุคคล

    George D. Stoddrd ได้ให้ความหมายว่า เชาว์ปัญญา คือ ความสามารถที่จะเข้าใจและทำกิจกรรม

    David Wechsler (1958) กล่าวว่า เชาวน์ปัญญาคือ ความสามารถโดยรวมของบุคคลที่แสดงออกอย่างมีเป้าหมาย คิดอย่างมีเหตุผล และจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

    พริ้มเพรา ดิษยวณิช (2543) กล่าวว่า ในทางจิตวิทยา เชาวน์ปัญญา (Intelligence) หมายถึงความสามารถที่จะเข้าใจโลกตามความเป็นจริง คิดอย่างมีเหตุผลและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต้องเผชิญกับการท้าทาย เชาวน์ปัญญายังหมายถึง ความสามารถทางการรู้ การเรียนรู้ ความจำทั้งในอดีตและปัจจุบัน การจัดแนวคิดทั้งในการใช้คำพูดและตัวเลข ความสามารถในการเปลี่ยนความคิดเชิงนามธรรมเป็นภาษาเขียนหรือคำพูด และการใช้ภาษากลับไป เป็นความคิดเชิงนามธรรมยังรวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์และการสังเคราะห์รูปทรง และการจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างมีความหมายและแม่นยำตามลำดับก่อนหลัง

    ผศ.นพ. สเปญ อุ่นอนงค์ กล่าวว่า เชาว์ปัญญา หมายถึงความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อปัญหาอย่างเหมาะสมและความสามารถในอันที่จะทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีคุณค่าทางสังคม สามารถคิดอย่างมีเหตุผลสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

    2. นิยามของเชาวน์ปัญญา

    มีผู้ให้นิยามคำว่าเชาวน์ปัญญา (intelligence) มากมายหลายคนดังนี้:

    David Wechsler (1958) กล่าวว่า เชาวน์ปัญญาคือ ความสามารถโดยรวมของบุคคลที่แสดงออกอย่างมีเป้าหมาย คิดอย่างมีเหตุผล และจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

    J.P. Gilford กล่าวว่าเชาวน์ปัญญามีองค์ประกอบ 3 มิติ ด้วยกันคือ

    1. วิธีการคิด
    2. สิ่งที่ก่อให้เกิดเป็นความคิด เช่น ภาพ สัญลักษณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ
    3. ผลของความคิด สามารถดัดแปลงนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ

    Charles Spearman กล่าวถึง เชาวน์ปัญญา ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงสร้างคือ

    1. ความสามารถทั่วไป เช่นเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ การวางแผนและการคิดอย่างมีเหตุผล
    2. ความสามารถพิเศษ เช่น ความสามารถด้านกีฬา ศิลปะ ดนตรี

    ปี 1927 Spearman กล่าวว่าองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญาเรียกว่า g หรือ g-factor เป็นความคิดแฝงที่อยู่ภายใต้การกระทำทุกชนิดที่บ่งบอกลักษณะของเชาวน์ปัญญา และ g-factor คือสิ่งที่ถูกวัดโดยแบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา

    Howard Gardner (1983) กล่าวถึงเชาวน์ปัญญา 7 ชนิด แม้ว่าแต่ละชนิดต่างเป็นอิสระไม่ต้องอาศัยอย่างอื่นประกอบ แต่โดยทั่วไปแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ จะประกอบด้วยส่วนของเชาวน์ปัญญาเหล่านี้ร่วมกัน (Gardner, 1983; Walter and Gardner,1986; Krechesky and Gardner,1990)

    เชาวน์ปัญญา 7 ชนิดคือ

    1. เชาวน์ปัญญาทางด้านดนตรี (Musical intelligence) ได้แก่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการดนตรี
    2. เชาวน์ปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Bodily kinesthetic intelligence) ได้แก่ทักษะที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการแสดง หรือแก้ไขปัญหาเช่น นักกรีฑา นักแสดง นักเต้นรำ และ ศัลยแพทย์
    3. เชาวน์ปัญญาในด้านตรรก และการคำนวณ (Logical and mathematic intelligence) ได้แก่ทักษะในการใช้เหตุและผล รวมทั้งการคิดคำนวณ และความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา
    4. เชาวน์ปัญญาทางด้านการใช้ภาษา (Linguistic intelligence) ได้แก่ทักษะซึ่งเป็นผลจากการใช้ภาษา
    5. เชาวน์ปัญญาเกี่ยวกับที่ว่าง (Spatial intelligence) ได้แก่ทักษะที่ใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง รูปพรรณสัณฐาน องค์ประกอบ มักพบในกลุ่มที่เป็นศิลปิน หรือสถาปนิก
    6. เชาวน์ปัญญาเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interpersonal intelligence) ได้แก่ทักษะที่ใช้ในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่นมีความไวในการรับหรือส่งอารมณ์ ความรู้สึก แรงจูงใจ หรือมีความเข้าใจในผู้อื่น ข้อนี้น่าจะคล้ายกับเรื่องของ EQ.
    7. เชาวน์ปัญญาในด้านความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับตนเอง (Intrapersonal intelligence) ได้แก่ความเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ตนเองมีอยู่

    Sternberg และคณะ (1981) กล่าวถึงเชาวน์ปัญญา (intelligence) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ

    1. ความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving ability) ด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุและผล

    2. มีความคิดที่แสดงความสามารถในเชิงภาษา การติดต่อสื่อสารด้วยคำพูดและวาจาและ

    3. มีความสามารถทางสังคม มีความสนใจผู้อื่น และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ

    Sternberg (1985, 1991) พัฒนาทฤษฎีทางเชาวน์ปัญญา 3 มิติ (Triarchic theory of intelligence) เขากล่าวถึงองค์ประกอบ 3 ด้านของเชาวน์ปัญญาคือ

    1. ด้านองค์ประกอบ (componential aspect) เน้นในเรื่ององค์ประกอบของความคิด ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการของความคิดหรือทักษะ(mental process or skill) เมื่อบุคคลแสดงพฤติกรรมที่มีเหตุผล
    2. ด้านประสบการณ์ (experiential aspect) เน้นประสบการณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภูมิปัญญาของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในอดีตที่ช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อเผชิญกับสถาณการณ์ต่าง ๆ เช่นการปรับตัวกับงานใหม่ ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
    3. ด้านบริบท (contextual aspect) ทุกวันนี้มนุษย์ต้องเผชิญกับสิ่ง แวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บุคคลต้องใช้ความสามารถเชิงเชาวน์ปัญญาชนิดนี้เข้าจัดการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆที่เปลี่ยนแปลงไป

    ในปัจจุบันมีนักจิตวิทยารุ่นใหม่ ๆ ที่มีการจัดแบ่งเชาวน์ปัญญาออกไปในด้านต่าง ๆ เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) หรือเชาวน์อารมณ์ (Emotional Quotient, EQ.) เชาวน์ปัญญาเชิงปฎิบัติการ (Practical intelligence) และเชาวน์ปัญญาเชิงจริยธรรม (Moral intelligence) อย่างไรก็ตามทฤษฏีใหม่ในปัจจุบันเน้นถึงความสำคัญของเชาวน์ปัญญาเชิงปฏิบัติการ (practical intelligence) ที่ช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มากกว่าเชาวน์ปัญญาที่ได้รับจากการเรียนรู้ในโรงเรียน (school intelligence)

    ในทางจิตวิทยา เชาวน์ปัญญา (Intelligence) หมายถึงความสามารถที่จะเข้าใจโลกตามความเป็นจริง คิดอย่างมีเหตุผลและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต้องเผชิญกับการท้าทาย เชาวน์ปัญญายังหมายถึง ความสามารถทางการรู้ การเรียนรู้ ความจำทั้งในอดีตและปัจจุบัน การจัดแนวคิดทั้งในการใช้คำพูดและตัวเลข ความสามารถในการเปลี่ยนความคิดเชิงนามธรรมเป็นภาษาเขียนหรือคำพูด และการใช้ภาษากลับไป เป็นความคิดเชิงนามธรรมยังรวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์และการสังเคราะห์รูปทรง และการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ อย่างมีความหมายและแม่นยำตามลำดับก่อนหลัง (พริ้มเพรา ดิษยวณิช, 2543)

    จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลเป็นผลรวมของชีวิตที่เกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถในด้านการรู้หรือประชาน (cognitive ability) พัฒนาการของเชาวน์ปัญญาเกี่ยวข้องกับอิทธิพล ของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

    3. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา

    แม้จะมีทฤษฎีเชาวน์ปัญญาหลายทฤษฎี แต่ในที่นี้จะเสนอ ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา ที่ได้รับความนิยม และนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งสอดคล้องกับเรื่องที่จะสามารถนำไปพัฒนาตนได้เป็นอย่างดี คือ ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) พร้อมทั้งแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเชาวน์ปัญญาคือ หลักไตรสิกขา และโยนิโสมนสิการ

    ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์

    การ์ดเนอร์ได้เสนอว่าเชาวน์ปัญญามนุษย์มี 8 ด้าน แต่ละด้านเหล่านี้ ไม่ได้ทำงานแยกจากกัน ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีบทบาท ที่สลับซับซ้อน จะมีการผสมผสานการใช้สติปัญญาด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในการปฏิบัติบทบาทของตน เชาวน์ปัญญาทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย

    1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

    บุคคลผู้มีความสามารถด้านนี้จะไวกับความหมายของคำ เล่นคำ มีความสามารถ ใช้ภาษาได้อย่าง ถูกต้องตามหลักไวยกรณ์และบางครั้งก็ออกนอกกฎเมื่อไตร่ตรองดีแล้ว เป็นผู้มีความสามารถด้านภาษาในระดับสูง สามารถสื่อสารเชื่อมโยงได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยตลอดจนการใช้ภาษากระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ กวี นักเขียน นักการเมือง นักพูด นักข่าว ทนายความ และพิธีกร

    2. ปัญญาด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical Mathematical Intelligence)

    ผู้มีปัญญาด้านนี้สูง จะสามารถจัดเก็บ ตัวแปรหลาย ๆ ตัวแปรและสร้างสมมุติฐานได้มากมาย สามารถประเมินและยอมรับหรือปฏิเสธสมมุติฐานแต่ละข้อได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถจะรวม ทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์นั้นรักที่จะค้นคว้ากับสิ่งที่เป็นนามธรรม สนุกกับการแก้ปัญหาที่ต้องสรรหาเหตุผลมากมายมาประกอบ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ จะได้แรงจูงใจจากความต้องการที่จะอธิบายทุกสิ่งให้เป็นรูปธรรม บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ และนักวิจัย

    3. ปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence)

    ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถที่จะเข้าใจโลกที่เรามองเห็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องที่จำเป็นในการเดินทางการเดินเรือ และการใช้แผ่นที่ ผู้มีความสามารถด้านนี้สูงจะสามารถนำเสนอข้อมูลด้านมิติให้ออกมาเป็นภาพได้ มีความเฉียบแหลมในการดึงภาพจากความคิดฝันมาทำให้ปรากฎ มาสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะ บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ วิศวกร ศัลยแพทย์ นักวาดแผนที่ ปฏิมากร และสถาปนิก

    4. ปัญญาทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily-Kinesthetic Intelligence)

    ผู้มีปัญญาด้านนี้สูงจะค้นพบความสามารถของตน ทันทีที่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวนั้น ๆ โดยยังไม่ทันได้รับการฝึกมากนัก มีความสามารถในการหยิบจับวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น นักประดิษฐ์และนักแสดง ร่างกายจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในอาชีพ บุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ นักเต้นรำ นักกีฬา และนักกายกรรม

    5. ปัญญาทางด้านดนตรี (Musical Intelligence)

    คนทุกคนล้วนมีความสามารถทางดนตรีในระดับหนึ่ง ทุกคนสามารถสนุกไปกับเสียงดนตรี ได้แก่ จังหวะ ท่วงทำนอง ระดับเสียง ซึ่งบางคนจะมีทักษะด้านนี้มากกว่าคนอื่น สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี ปัญญาด้านนี้ครอบคลุมความสามารถทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ผู้มีความสามารถด้านนี้สูง ได้แก่ นักประพันธ์เพลง นักร้อง นักดนตรี ผู้ควบคุมวงดนตรี และผู้เข้าซึ้งถึงดนตรี

    6. ปัญญาทางด้านการเข้ากับผู้อื่น (Inter-Personal Intelligence)

    ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถที่จะมองไปที่ผู้อื่นหรือบุคคลที่อยู่ภายนอก ผู้ใหญ่ที่มีความชำนาญด้านนี้จะสามารถรับรู้ความตั้งใจและความปรารถนาของผู้อื่นได้ แม้เขาจะไม่แสดงออกให้เห็นหรือปิดบังไว้ก็ตาม จะมีความไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น บุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางการเมือง พ่อแม่ ครู นักบำบัด และนักแนะแนว

    7. ปัญญาทางด้านการเข้าใจตนเอง (Intra-Personal Intelligence)

    ปัญญาด้านนี้คือการเข้าใจความรู้สึกของตนเองทุกแง่ทุกมุม รู้จักระดับและขอบเขตอารมณ์ของตนเอง สามารถระบุอารมณ์นั้นได้และใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของตน ปรับปรุงการกระทำของตน ผู้มีปัญญาด้านนี้สูงจะมีความเข้าใจภายในตนเองสูง จะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตของตนเอง สดชื่น และมีประสิทธิภาพ บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ นักเขียน นักแต่งนวนิยาย ผู้ทรงปัญญา และนักจิตวิทยา

    8. ปัญญาทางด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalistic Intelligence)

    ปัญญาด้านนี้เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อม ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้สูงจะรู้จักจำแนกชนิด และสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ สามารถแยกแยะความแตกต่าง จัดหมวดหมู่ จัดประเภทของสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติของโลกได้ดีบุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ นักเดินทาง นักพฤกษศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

    การ์ดเนอร์มีหลักฐานหลายอย่าง ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับสมอง พัฒนาการมนุษย์ วิวัฒนาการมนุษย์ ประกอบกับการเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ แล้วเลือกสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลาย ๆ ด้านโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความหมายดั้งเดิมของ “สติปัญญา” ทำให้มีโอกาสค้นพบสติปัญญาด้านใหม่ ๆ การ์ดเนอร์ พบว่า สติปัญญาต่าง ๆ ที่ศึกษาล้วนมีลักษณะที่ไม่ต้องอาศัยสติปัญญาด้านอื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากคนที่สมองส่วนที่ควบคุมสติปัญญาด้านนั้น ๆ ถูกทำลายก็จะสูญเสียความสามารถในด้านนั้น โดยที่ความสามารถด้านอื่นยังคงอยู่ตามปกติ บทบาทของผู้ใหญ่เป็นผลมาจากปัญญาด้านใดด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตามบทบาททางวัฒนธรรมทุกบทบาทไม่ว่าจะซับซ้อนมากน้อยเพียงไร จะต้องอาศัยสติปัญญาหลาย ๆ ด้านผสมผสานกัน

    4. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเชาวน์ปัญญา

    1. พันธุกรรมกับเชาวน์ปัญญา

    พันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกต่อเชาวน์ปัญญาของบุคคล การที่เด็กจะมีระดับเชาวน์ปัญญาเช่นไรขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่เป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าพ่อแม่ฉลาด ลูกจะฉลาดเหมือนพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่โง่ ลูกจะโง่เหมือนพ่อแม่

    2. สิ่งแวดล้อมกับเชาวน์ปัญญา

    สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับเชาวน์ปัญญาของบุคคลได้ไม่มากนัก กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะจัดสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใดก็จะไม่สามารถทำให้เด็กที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ให้มีระดับเชาวน์ปัญญาที่สูงขึ้นเป็นระดับปานกลางได้เลย

    5. ทฤษฏีเชาวน์ปัญญา

    1. ทฤษฎีเอกนัยหรือทฤษฎีองค์ประกอบเดียว

    ผู้คิดทฤษฎีนี้ อัลเฟรด บิเนต์ มีความเห็นว่าว่าเชาวน์ปัญญาหมายถึงผลรวมของความสามารถหลายๆ ด้านของบุคคลที่มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมกันเข้าเป็นองค์ประกอบเดียว เรียกว่าองค์ประกอบทั่วไป ซึ่งไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ ซึ่งบิเนต์เชื่อว่าจะพัฒนาไปตามวุฒิภาวะของแต่ละบุคคล

    2. ทฤษฎีสององค์ประกอบ

    ผู้คิดทฤษฎี ชาร์ลส์ อี. สเปียร์แมน เชื่อว่าเชาวน์ปัญญาของคนเราไม่น่าจะมีเพียงองค์ประกอบเดียว แต่ควรประกอบขึ้นจากองค์ประกอบสองประเภทด้วยกัน คือ องค์ประกอบที่เป็นความสามรถทั่วไป เช่น ความจำ ไหวพริบ องค์ประกอบที่เป็นความสามารถเฉพาะ เช่น ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ทางภาษา

    3. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาของกิลฟอร์ด

    เจ.พี. กิลฟอร์ด เชื่อว่าเชาวน์ปัญญาของบุคคลมีโครงสร้างเป็นสามมิติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ ด้านเนื้อหา ด้านวิธีคิด และด้านผลที่ได้ ซึ่งทั้งสามมิติหรือสามด้านยังสามารถแยกองค์ประกอบย่อยได้อีกถึง 120 ส่วน

    4. ทฤษฎีการจัดกลุ่มและอันดับ

    เวอร์นอน และเบิร์ต มีความเห็นว่าเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายส่วน แต่ละส่วนจะมีขนาด ลักษณะ และคุณภาพที่แตกต่างกันๆ ไป

    5. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาของแคตเตลล์

    ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับเชาวน์ปัญญาโดยถือเอาอิทธิพลที่มีต่อพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาเป็นเกณฑ์ โดยเขาเห็นว่าเชาวน์ปัญญาของบุคคลแบ่งองค์ประกอบทั่วไปสองประเภทคือเชาวน์ปัญญาที่ได้รับจากการถ่ายทอดทาพันธุกรรม หมายถึงองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญาประเภทที่ไม่เกิดจากการเรียนรู้หรืออาศัยประสบการณ์ เป็นความสามารถพื้นฐานโดยทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ หมายถึงองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการสะสมประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากสังคมและสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีประสบการณ์และการเรียนรู้มากเท่าใด พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาก็จะมากขึ้น

    ตัวอย่างแบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา (จิตวิทยาทั่วไป)

    แบบทอสอบเชาวน์ปัญญารายบุคคล

    แบบทดสอบเชาว์ปัญญาฉบับมาตรฐาน Standford-Binet Intelligence Scale (S-B scale) เป็นแบบทดสอบที่สร้างขึ้นโดยนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Srandfordนำโดย Termanและคณะ ลักษณะของแบบทดสอบจะแบ่งออกเป็นชุดย่อยๆ ที่ใช้สำหรับแต่ละกลุ่มอายุ มีตั้งแต่ชุดของอายุ 2 ปี จนถึงชุดของอายุ 16 ปี แต่ละชุดจะมีข้อสอบประมาณ 6 ข้อ โดยในการทำแบบทดสอบ จะให้ผู้เข้ารับการทดสอบเริ่มทำแบบทดสอบชุดที่อายุต่ำกว่าอายุจริงประมาณ 1-2 ปี เพื่อคิดเป็นอายุฐานของสมอง แล้วให้ผู้เข้ารับการทำแบบทดสอบทำแบบทดสอบไปเรื่อยๆ จนถึงชุดอายุที่ไม่สามารถทำได้ โดยในระหว่างนั้นจะคิดคะแนนอายุสมองให้ตามจำนวนข้อที่ทำได้ โดยให้คะแนนอายุสมองเพิ่มขึ้นข้อละ 2 เดือน ได้คะแนนอายุสมองเท่าใด ให้นำมาแทนค่าในสูตร

    ข้อคำถามใน S-B scale ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ

    แบบทดสอบเชาว์ปัญญาของ Wechsler ประกอบด้วยแบบทดสอบ 2 ชุด คือ ชุดสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 5-15 ปี มีชื่อว่า Wechsler Intelligence Scalefor children (WISC) และชุดสำหรับผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 16-64 ปี มีชื่อว่า Wechsler Adult Intelligence Scale (WAIS) ทั้งสองชุดแตกต่างกันที่ความยากง่าย แต่มีลักษณะเหมือนกัน คือ แบ่งเป็น 2 มาตร (Scales) ได้แก่ มาตรถ้อยคำ (Verbal Scale) และมาตรประกอบการ (Performance Scale) ผู้เช้ารับการทดสอบจะต้องถูกทดสอบทั้งสองมาตร ดังนี้

    มาตราถ้อยคำแบ่งเป็นแบบทดสอบย่อย 6 ฉบับ คือ

    1. General Information ถามเรื่องทั่วๆไป ที่ไม่ใช่ความรู้ทางวิชาการ

    2. General Comprehension ถามความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ

    3. Arithmetic วัดความสามารถในการคิดคำนวณเบื้องต้น

    4. Similarity วัดความสามารถในการรับรู้ความคล้ายคลึงกันของสิ่งต่างๆ

    5. Digit Span วัดความสามารถในการจำตัวเลขทั้งเรียงตามลำดับและย้อนหลัง

    6. Vocabulary วัดความรู้เกี่ยวกับความหมายของศัพท์ต่างๆ

    มาตรฐานประกอบการแบ่งเป็นแบบทดสอบย่อย 5 ฉบับ คือ

    1. Digit Symbol เป็นการวัดความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ด้วยการจดจำสัญลักษณ์และตัวเลข

    2. Picture Completion เป็นการดูภาพ แล้วหาส่วนที่ขาดหายไป

    3. Picture Arrangement ให้เรียงรูปภาพเหตุการณ์ก่อนหลัง

    4. Block Design ให้เรียงลูกบาศก์ตามตัวอย่าง

    5. Object Assembly ให้ต่อชิ้นส่วนของภาพให้เป็นภาพที่สมบูรณ์

    แบบทดสอบเชาวน์ปัญญารายกลุ่ม

    แบบทดสอบเชาว์ปัญญาของธอร์นไดค์ (Thorndike Intelligence Test) ประกอบดด้วยแบบทดสอบ ดังนี้

    1. Verbal เป็นแบบทดสอบที่ใช้ภาษา ประกอบด้วย

    1.1 Sentence Completion เติมคำในประโยคให้สมบูรณ์

    1.2 Vocabulary คำศัพท์ต่างๆ

    1.3 Arithmetic การให้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์

    1.4 VerbalClassification การจัดคำต่างๆ ที่เป็นพวกเดียวกันไว้ด้วยกัน

    1.5 Verbal Analogies การเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัย

    2. Non Verbal เป็นแบบทดสอบที่ไม่ต้องใช้ภาษา ประกอบด้วย

    2.1 Figure Classification การจัดรูปภาพที่เหมือนกันไว้พวกเดียวกัน

    2.2 Number Series การต่ออนุกรมตัวเลข

    2.3 FigureAnalogies การอุปมาอุปมัยด้วยรูปภาพ

    แบบทดสอบ Army Alpha, Army Beta

    เป็นแบบทดสอบที่สร้างขึ้นเพื่อคัดเลือกทหารจำนวนมากเข้าประจำกรม กองต่างๆ ตามความเหมาะสมกับระดับสติปัญญา

    Army Alpha ใช้สำหรับคนอ่านหนังสืออกมี 8 ชุด ดังนี้

    1. Following Directions ให้ทำตามสั่ง

    2. Arithmetic Problem เป็นเลขในใจ

    3. Practical Judgment เป็นคำถามให้เลือกข้อที่ถูกที่สุด

    4. Synonym-Antonym ให้หาคำเหมือนกัน และคำตรงกันข้ามกับที่กำหนดให้

    5. Disarranged Sentences ให้จัดเรียงประโยคให้ถูกต้อง

    6. Number Series Completion ให้เติมอนุกรมตัวเลข

    7. Analogies เป็นการอุปมา อุปมัย เช่น ชาย : หญิงพ่อ : ….

    8. General information ถามความรู้ทั่วไป

    Army Beta ใช้สำหรับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้หรืออ่านเขียนได้บ้างเล็กน้อย มี 7 ชุด คือ

    1. Maze เขาวงกต

    2. Cube Analysis นับลูกบาศก์

    3. X-C Series ต่ออนุกรม X-Ox-oxoxox……………ox, ooxx ,ooo……………..

    4. Digit Symbol ตอบสัญลักษณ์ให้ตรงกับตัวเลข

    5. Number Checkingหาตัวเลขคู่ที่เหมือนกัน

    6. Pictorial Completion เติมภาพให้สมบูรณ์

    7. Geometric Construction ขีดเส้นแสดงว่าชิ้นส่วนต่างๆ รวมกันเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อย่างไร

    แบบทดสอบ Progressive Matrices (P.M.I.)

    เป็นแบบทดสอบเชาว์ปัญญาเสมอภาคทางวัฒนธรรม กล่าวคือ จะไม่มีภาษาหรือความแตกต่างทางงวัฒนธรรมมาเป็นอุปสรรคต่อการทำแบบทดสอบ เนื่องจากข้อคำถามและตัวเลือกในแบบทดสอบจะเป็นรูปภาพทรงเราขาคณิต ทั้งหมด

    สรุป

    เชาวน์ปัญญา คือความสามารถเฉพาะบุคคลในการที่จะคิดอย่างเป็นนามธรรม มีเหตุผล ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำประสบการณ์จากการเรียนรู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ประเมินสถานการณ์ได้ใกล้เคียงตามความเป็นจริง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อปัญหาอย่างเหมาะสมและความสามารถในอันที่จะทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีคุณค่าทางสังคม สามารถคิดอย่างมีเหตุผลสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพเชาวน์ปัญญามีความสำคัญและมีผลต่อความสำเร็จทางด้านต่างๆของมนุษย์ แต่มิใช่ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นองค์ประกอบเดียวที่จะทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ การศึกษาเรื่องเชาวน์ปัญญาเพื่อทำให้เข้าใจพัฒนาการและสร้างเสริมระดับความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของบุคคลเชาวน์ปัญญาของบุคคลแบ่งองค์ประกอบทั่วไปสองประเภทคือ เชาวน์ปัญญาที่ได้รับจากการถ่ายทอดทาพันธุกรรม หมายถึงองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญาประเภทที่ไม่เกิดจากการเรียนรู้หรืออาศัยประสบการณ์ เป็นความสามารถพื้นฐานโดยทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ หมายถึงองค์ประกอบทั่วไปของเชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการสะสมประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากสังคมและสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีประสบการณ์และการเรียนรู้มากเท่าใด พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาก็จะมากขึ้น

    ข้อมูลอ้างอิง

    1. อัญชลี จุมพฎจามีกร, สเปญ อุ่นอนงค์, มานพ ศริมหาราช. “ปัญญาอ่อน”. วารสารโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.2526), หน้า 11.
    2. วิจิตรพาณี เจริญขวัญ. (2523). การทดสอบทางจิตวิทยา. กรุงเทพ :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
    3. ศูนย์สุขวิทยาจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2530). อนุสารเรื่องเชาวน์ปัญญา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์.
    4. สถิต วงส์วรรค์. (25235). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์บำรุงสาสน์.
    5. Bennard, Harold W. (1954). Psychology of Learning and Teaching. McGraw Hill Book Co.,
    6. Bigge, Morris L.& Hunt, Maurice P. (1962). Psychological Foundation of Education. Harper & Row, 2nd Ed.
    7. Blair, Glenn Myers, Jone, R. Stewart, & Simpson, Ray H. (1968). Educational Psychology. MacMillan. 2nd Ed.
    8. Cecco, John P. De. (1968). The Psychology of Learning and Instruction : Educational Psychology. Prentice-hall.
    9. Fryer. Douglas H, (1960). General Psychology. New York :Bames&Noble, Inc.
    10. Hilard, Emest R. (1965). Introduction to Psychology. 4th ed. New York : Harcourt Brace and World, Inc.,
  • ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences)

    ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences)

    สิ่งสำคัญที่ผู้สอนต้องเข้าใจ เพื่อไม่ปิดกั้นจินตนาการความคิดสร้างสรรค์และความสามารถ ช่วยปลดล๊อกนักเรียนให้นำความสามารถภายในแต่ละคนออกมาเรียนรู้อย่างมีความสุข

    ความแตกต่างระหว่างบุคคล หากผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละบุคคล ให้เกิดการเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งด้านการศึกษาความแตกต่างระหว่างบุคคล ความรู้ ด้านเจตคติ และด้านทักษะ ก็จะเพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่าง สามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนของบุคคลทางเชาวน์ปัญญา ความคิด และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้อย่างเต็มที่สร้างสรรค์ ลีลาการรู้คิด รวมทั้งความแตกต่างทางบุคลิกภาพและความแตกต่างทาง

    1. ขอบเขตของความแตกต่างระหว่างบุคคล

    ความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้เราเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้นและเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะให้บุคคลอื่นคิดอย่างที่เราคิดหรือทำอย่างที่เราทำไม่ได้ ทุกคนมีพันธุกรรมที่แตกต่างกันมีสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันได้รับประสบการณ์ต่างๆ ที่เหมือนๆกันแต่ไม่ได้หมายความว่าบุคคลต้องตัดสินใจในเรื่องเดียวกันเหมือนกันทั้งก็มาจากความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับความต่างของกันและกันเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดีๆให้กันและกัน

    2. องค์ประกอบที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล

    2.1 อิทธิพลที่มีต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล

    องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล คือ

    1. พันธุกรรม (Heredity)

    เป็นการถ่ายทอดคุณลักษณะต่าง ๆ ที่สืบเนื่องต่อมาของบรรพบุรุษจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดลักษณะการเจริญเติบโต และพันธุกรรมมีผลตั้งแต่การเริ่มปฏิบัติ และมีผลต่อจนเด็กเจริญเติบโต โดยมีผลต่อความสามารถและคุณลักษณะต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์พบว่า คุณลักษณะทางกายภาพเช่น ลักษณะหน้าตา สีผิว ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษ ดังนี้

    1.1 ลักษณะกาย เช่น สีของตา ลักษณะของผม จมูก ปาก สีของผิว ส่วนโครงสร้างสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาได้จากอาหาร อากาศ การออกกำลังกาย และอาชีพเข้ามามีอิทธิพล แต่พันธุกรรมก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน

    1.2 ความบกพร่องทางกายและโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตไหลไม่หยุด ความบกพร่องทางด้านการได้ยินและเห็น เป็นต้น

    1.3 ความพิการทางสมองและปัญญาอ่อน เช่น โรค Down’s Syndromeหรือ Mongolism เกิดจากโครงสร้างของโครโมโซมที่ผิดปกติทำให้สมองพิการ เชาวน์ปัญญาต่ำ

    1.4 ความผิดปกติทางจิต เช่น ในโรคจิตเภท จิตแพทย์มีความเห็นว่าโรคนี้อาจได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

    1.5 บุคลิกภาพ มีการศึกษาพบว่า อาชญากรจะมีจำนวนโครโมโซมที่ผิดปกติจากคนปกติ นั่นคือ พันธุกรรมอาจมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคลในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น ขี้อาย เก็บตัว เปิดเผย เป็นต้น

    1.6 สติปัญญา จากการศึกษาพบว่า พันธุกรรมเป็นปัจจัยที่กำหนดระดับสติปัญญาของบุคคลและพบว่า ลักษณะความบกพร่องทางสติปัญญาหลายอย่างเกิดเนื่องจากยีน และโครงสร้างโครโมโซมผิดปกติ นอกจากนั้นแล้วมีการศึกษาพบว่า ระดับเชาวน์ปัญญาของลูกจะใกล้เคียงกับระดับเชาวน์ปัญญาของพ่อแม่ที่แท้จริง

    2. สิ่งแวดล้อม (Environment)

    เป็นการกำหนดขอบเขตของการเจริญเติบโต เนื่องจากสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ทั้งในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาและภายหลังคลอดมีลักษณะแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของคนเราในเวลาต่อมา ดังนี้

    2.1 การศึกษา สภาพแวดล้อมที่ให้โอกาสบุคคลได้รับการศึกษาอย่างดี แม้ในบุคคลจะมีเชาวน์ปัญญา ใกล้เคียงกัน หากมีโอกาสได้รับการศึกษาแตกต่างกันก็ย่อมทำให้ความสามารถแตกต่างกันได้ โอกาสการทำงานก็แตกต่างกันไป การศึกษามีส่วนช่วยให้คนมีความคิด มีเหตุผล และมีความสามารถสูงขึ้น

    2.2 ประสบการณ์ ประสบการณ์มาจากสิ่งที่พบเห็นที่แตกต่างกัน บางคนได้รับความกดดันจากประสบ การณ์อย่างหนึ่ง ก็มีผลต่อการเรียนรู้และความเชื่อถือของบุคคลนั้นที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ด้วย คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นเวลานาน ย่อมได้เปรียบในด้านความชำนาญงานด้วย

    2.3 สภาพแวดล้อมของดินฟ้าอากาศ หมายถึง ความแตกต่างทางด้านภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น คนที่อยู่ใกล้ทะเลจะมีผิวพรรณหยาบคล้ำกว่าคนที่อยู่ตามป่าเขา สภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ การทำมาหากินสะดวกอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนจะมีความแข็งแรง อยู่ดีกินดี มีงานทำ สภาพแวดล้อมที่ขัดสน อากาศแห้งแล้งทุรกันดาร ทำให้บุคคลไม่แข็งแรง ผอมแห้ง ทอดอาลัย เบื่อหน่าย สภาพแวดล้อมบางชนิดทำให้บุคคลคิดดัดแปลงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้น เกิดโรงงานอุตสาหกรรม และมีงานทำมากมาย ระบบสังคมศาสนา วัฒนธรรม และภาษา ล้วนมีบทบาทต่อบุคคล เพราะบุคคลย่อมเลือกทำงาน เลือกดำรงชีวิตตามความนึกคิดของตนเอง ระบบสังคมการปกครองส่งเสริมให้คนแข่งขันกันทำงาน แม้ศาสนา วัฒนธรรมจะมีส่วนทำให้บุคคลเลือกที่จะทำงานตามเจตคติและความเชื่อถือ

    2.4 สุขภาพอนามัย ได้แก่ อาหารการกิน สุขลักษณะในการดำรงชีวิตประจำวันมีส่วนทำให้คนเรามี ความแข็งแรงแตกต่างกัน คนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำร่างกายย่อมทรุดโทรม การทำงานมีประสิทธิภาพต่ำ ขาดความเอาใจใส่งานเท่าที่ควร คนที่ขาดแคลน กินไม่อิ่มย่อมทำงานได้ไม่ดีเช่นกัน

    2.5 อุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันมาก่อน คนที่ประสบอุบัติเหตุทำให้ร่างกายพิการ หน้าตา เสียโฉม ทำให้เกิดปมด้อย หรือไม่สามารถทำงานบางชนิดได้ สมองอาจได้รับความกระทบกระเทือนกลายเป็นคน ปัญญาอ่อน เป็นภาระของสังคมและโรงเรียนได้

    2.2 การจัดการการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล

    แนวคิดทางการศึกษาแผนใหม่จึงเน้นในเรื่องการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ((Individual Differences) เรียกการเรียนการสอนลักษณะนี้ว่า การจัดการเรียนการสอนรายบุคคล;

    การเรียนการสอนรายบุคคล (Individualized Instruction)

    การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับมนุษย์ แต่ละคนจึงมีความสามารถ ความสนใจ ความพร้อมและความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. 2528) ดังนั้นแนวคิดทางการศึกษาแผนใหม่จึงเน้นในเรื่องการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences) เรียกการเรียนการสอนลักษณะนี้ว่า การจัดการเรียนการสอนรายบุคคล หรือการจัดการเรียนการสอนตามเอกัตภาพ (แบบเอกัตบุคคล) หรือการเรียนด้วยตนเอง (Individualized Instruction) โดยยึดหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยมุ่งจัดสภาพการเรียนการสอนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสามารถ ความสนใจและความพร้อม

    ความหมายของการเรียนการสอนรายบุคคล

    เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต (2528) ได้ให้ความหมาย ว่า เป็นการจัดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ด้วยตนเอง และก้าวไปตามความสามารถ ความสนใจและความพร้อม โดยจัดสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างอิสระ

    พัชรี พลาวงศ์ (2526 : 83) ได้ให้ความหมายของการเรียนด้วยตนเอง ไว้ว่า การเรียนด้วยตนเองหมายถึง วิชาที่เรียนชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้าง มีระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้ การเรียนแบบนี้ผู้เรียนมีอิสระในการเลือกเรียนตามเวลา สถานที่ระยะเวลาในการเรียนแต่ละบท แต่จะต้องอยู่จำกัดภายใต้โครงสร้างของบทเรียนนั้นๆ เพราะ ในแต่ละบทเรียนจะมีวิธีดารชี้แนะไว้ในคู่มือ (Study Guide)

    สรุปได้ว่า การเรียนการสอนรายบุคคลหรือการเรียนด้วยตนเอง หรือการเรียนรายบุคคลเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนหรือเรียนตามความสามารถ ความสนใจของตนเอง โดยคำนึงถึงหลักของความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งได้แก่ความแตกต่างในด้านความสามารถ สติปัญญา ความต้องการ ความสนใจ ด้านร่างกาย อารมณ์และสังคม โดยการเรียนด้วยตนเองเป็นการประยุกต์ร่วมกันระหว่างเทคนิคและสื่อการสอนให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่ การเรียนการสอนแบบโปรแกรม ชุดการเรียนการสอน การจัดตารางเรียนแบบยืดหยุ่น การสอนแบบโมดูล การสอนแบบ PSI ซึ่งวิธีการเรียนเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

    3. ทฤษฎีการเรียนการสอนรายบุคคล

    การจัดการเรียนการสอนรายบุคคลมุ่งสอนผู้เรียนตามความแตกต่างโดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความพร้อมและความถนัด ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายบุคคล คือ ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่ (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. 2528)

    1. ความแตกต่างในด้านความสามารถ (Ability Difference)

    2. ความแตกต่างในด้านสติปัญญา (Intelligent Difference)

    3. ความแตกต่างในด้านความต้องการ (Need Difference)

    4. ความแตกต่างในด้านความสนใจ (Interest Difference)

    5. ความแตกต่างในด้านร่างกาย (Physical Difference)

    6. ความแตกต่างในด้านอารมณ์ (Emotional Difference)

    7. ความแตกต่างในด้านสังคม (Social Difference)

    จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เป็นการจัดที่รวมแนวทางใหม่ในการปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการจัดห้องเรียน จากแบบเดิมที่มีครูเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียว มาเป็นระบบที่ครูและผู้เรียนมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบ การจัดการศึกษาจะเป็นแบบเปิด (Open Education) ผู้เรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติด้วยตนเอง จนสามารถบรรลุเป้าหมายได้เมื่อจบบทเรียนแต่ละหน่วยหรือแต่ละบทเรียน โดยจะมีการทดสอบ หากผู้เรียนสามารถสอบผ่าน จึงจะสามารถเรียนบทเรียนหรือหน่วยเรียนบทต่อไปได้ บทเรียนนั้นอาจทำในรูปของชุดการเรียนการสอน (Instructional Package) บทเรียนสำเร็จรูป (Programmed Instruction) หรือโมดูล (Instructional Module) สาเหตุที่ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนรายบุคคลขึ้น เนื่องจาก

    1. ความไม่พอใจของคนทั่วไปในคุณภาพการศึกษาที่มีอยู่

    2. การเน้นถึงความต้องการที่จะปรับปรุงให้ได้มาซึ่งสัมฤทธิ์ผลของนักเรียนที่ยังไม่พร้อมหรือนักเรียนที่มีปัญหา

    3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะพัฒนาโปรแกรมการเรียน

    4. ความสามารถที่เป็นไปได้ของคอมพิวเตอร์ที่จะจัดโปรแกรมการเรียนรายบุคคล

    5. การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโสตทัศนวัสดุ

    6. การขยายตัวของทุนต่างๆเพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน

    โดยเราจะใช้การเรียนการสอนรายบุคคลสำหรับเป็นการฝึกฝน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการศึกษา การเรียนการสอนแบบนี้จะใช้เมื่อเราต้องการช่วยผู้เรียนให้เรียนทักษะทางด้านช่าง ทักษะการเขียนอ่านคำ เป็นต้น และใช้ในเนื้อหาวิชาที่ต่อเนื่องกัน เช่น วิชาช่าง วิชาวิทยาศาสตร์

    วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนรายบุคคล

    การเรียนการสอนรายบุคคล ยึดหลักปรัชญาทางการศึกษาและอาศัยพื้นฐานจากทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้ วัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนรายบุคคล จึงมุ่งเน้น

    1. การเรียนการสอนรายบุคคลมุ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักรับผิดชอบในการเรียนรู้

    รู้จักแก้ปัญหาและตัดสินใจเอง การเรียนการสอนรายบุคคลสอดคล้องและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษานอกโรงเรียน ครูและผู้เรียนเชื่อว่า การศึกษาไม่ใช่มีหรือสิ้นสุดอยู่เพียงในโรงเรียนเท่านั้น การเรียนการสอนรายบุคคลสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาและเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและตัวเอง ให้รู้จักแก้ปัญหา รู้จักตัดสินใจ มีความรับผิดชอบและพัฒนาความคิดในทางสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย

    2. การเรียนการสอนรายบุคคลสนองความแตกต่างของผู้เรียนให้ได้เรียนบรรลุผลกับทุกคน

    การเรียนการสอนรายบุคคลสนับสนุนความจริงที่ว่า คนย่อมมีความแตกต่างกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลิกภาพ สติปัญญา หรือความสนใจ โดยเฉพาะความแตกต่างที่มีผลต่อการเรียนรู้ที่สำคัญ 4 ประการ คือ

    2.1 ความแตกต่างในเรื่องอัตราเร็วของการเรียนรู้ (Rate of learning) ผู้เรียนแต่ละคนจะใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ในเวลาที่แตกต่างกัน

    2.2 ความแตกต่างในเรื่องความสามารถ (Ability) เช่น ความฉลาด ไหวพริบ ความสามารถในแง่ของความสำเร็จ ความสามารถพิเศษต่างๆ

    2.3 ความแตกต่างในเรื่องวิธีการเรียน (Style of learning) ผู้เรียนเรียนรู้ในทางที่แตกต่างกันและมีวิธีเรียนที่แตกต่างกันด้วย

    2.4 ความแตกต่างกันในเรื่องความสนใจและสิ่งที่ชอบ (Interests and perfernce) เมื่อผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในหลายด้านเช่นนี้ ครูจึงต้องจัดบทเรียนและอุปกรณ์การเรียนในระดับและลักษณะต่างๆ ให้ผู้เรียนได้เลือกด้วยตนเอง (Self-selection) เพื่อสนองความแตกต่างดังกล่าว

    3. การเรียนการสอนรายบุคคล เน้นเสรีภาพในการเรียนรู้

    เชื่อว่าถ้าผู้เรียนเรียนด้วยความอยากเรียนด้วยความกระตือรือร้นที่ได้เกิดขึ้น ผู้เรียนจะเกิดแรงจูงใจและการกระตุ้นให้พัฒนาการเรียนรู้ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องทำโทษหรือให้รางวัลและผู้เรียนก็จะรู้จักตนเอง มีความมั่นใจในการก้าวหน้าไปข้างหน้า ตามความพร้อมและขีดความสามารถ (Self-pacing)

    4. การเรียนการสอนรายบุคคล ขึ้นอยู่กับกระบวนการและวิชาดารที่เสนอความรู้ให้แก่ผู้เรียน

    การเรียนการสอนรายบุคคลเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นปรากฏการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล การเรียนรู้เกิดขึ้นเร็วหรือช้าและจะเกิดขึ้นอยู่กับผู้เรียนได้นานหรือไม่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับความสามารถ ความสนใจของผู้เรียนแล้ว ยังขึ้นอยู่กับกระบวนดารและวิธีการที่เสนอความรู้นั้นให้แก่ผู้เรียน การกำหนดให้ผู้เรียนรู้เรื่องหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง และเรียนรู้เรื่องหนึ่งด้วยวิธีการเดียวไม่เป็นการยุติธรรมต่อผู้เรียน ผู้เรียนควรจะได้เป็นผู้กำหนดเวลาด้วยตนเองและควรจะมีโอกาสเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยขบวนการและวิธีการต่างๆ

    5. การเรียนการสอนรายบุคคลมุ่งแก้ปัญหาความยากง่ายของบทเรียน

    เป็นการสนองตอบที่ว่า การศึกษาควรมีระดับแตกต่างกันไปตามความยากง่าย ถ้าบทเรียนนั้นง่ายก็ทำให้บทเรียนสั้นขึ้น ถ้าบทเรียนนั้นยากมาก ผู้สอนก็สามารถที่จะจัดย่อยเนื้อหาที่ยากนั้นออกเป็นส่วนๆและปรับปรุงให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น อาจจะเพิ่มเวลาที่เรียนให้ได้สัดส่วนกับความยากโดยเรียงลำดับจากเรื่องที่ง่ายไปสู่เรื่องราวที่ยากขึ้นตามลำดับ

    นอกจากนี้ กาเย่ และบริกส์ (Gagne and Briggs. 1974 : 185-187) ได้กล่าวถึงการเรียนด้วยตนเองว่า เป็นหนทางที่ทำให้การสอนบรรลุจุดมุ่งหมายตามความต้องการ (Need) และให้สอดคล้องกับบุคลิก (Characteristics) ของผู้เรียนแต่ละคน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 5 ประการ คือ

    1. เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินทักษะเบื้องต้นของผู้เรียน

    2. เพื่อช่วยในการค้นหาจุดเริ่มต้นของผู้เรียนแต่ละคนในการจัดลำดับการเรียนตามจุดมุ่งหมาย

    3. ช่วยในการจัดวัสดุและสื่อให้เหมาะสมกับการเรียน

    4. เพื่อสะดวกต่อการประเมินผลและส่งเสริมความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคน

    สรุป

    ความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้เราเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้นและเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะให้บุคคลอื่นคิดอย่างที่เราคิดหรือทำอย่างที่เราทำไม่ได้ ทุกคนมีพันธุกรรมที่แตกต่างกันมีสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันได้รับประสบการณ์ต่างๆที่เหมือนๆกันแต่ไม่ได้หมายความว่าบุคคลต้องตัดสินใจในเรื่องเดียวกันเหมือนกันทั้งหมด จากความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับความแตกต่างของกันและกันเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดีให้กันและกันนักจิตวิทยาทั้งทางตะวันตกและตะวันออกยอมรับว่ามนุษย์มีความแตกต่างระหว่างบุคคลในทุกด้าน ไม่มีใครที่จะเหมือนใคร ดังนั้นการจะทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ ควรมีหลักและวิธีการศึกษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจมนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งนี้เพราะความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างกันจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข บางครั้งความคิดเห็นในบางเรื่องอาจจะขัดแย้งกัน แต่ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว จะขจัดปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การเรียนการสอนก็ถือเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล แนวคิดทางการศึกษาแผนใหม่จึงมีการเน้นในเรื่องการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เรียกการเรียนการสอนลักษณะนี้ว่า การจัดการเรียนการสอนรายบุคคลโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนหรือเรียนตามความสามารถ ความสนใจของตนเอง โดยคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งได้แก่ความแตกต่างในด้าน ความสามารถ สติปัญญา ความต้องการ ความสนใจ ด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมโดยการเรียนด้วยตนเองเป็นการประยุกต์ร่วมกันระหว่างเทคนิคและสื่อการสอนให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่การเรียนการสอนแบบโปรแกรม ชุดการเรียนการสอน การจัดตารางเรียน แบบยืดหยุ่น การสอนแบบโมดูล การสอนแบบ PSI ซึ่งวิธีการเรียนเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่


    อ้างอิง

    1. กรมสุขภาพจิต.(2549). คู่มือวิทยาการหลักสูตรการเสริมสร้างไอคิวและอีคิวเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี พิมพ์. กรุงเทพมหานคร :บริษัทบียอนด์ พลับลิสซิ่ง จำกัด.
    2. กันยา สุวรรณแสง. (2538). จิตวิทยาทั่วไป General psychology. กรุงเทพมหานคร : อักษรพิทยา,
    3. จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคณะ. (2547). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพมหานคร : ธรรมศาสตร์,
    4. เดโช สวนานนท์. (2529). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช,
    5. ทิพย์ นาถสุภา. (2513). บทความประกอบหมวดวิชาการศึกษา วิชาจิตวิทยาการศึกษา. พระนคร : หน่วยศึกษานิเทศ กรมการฝึกหัดครู.
    6. พิชญ์สิรี โค้วตระกูล, สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์. (2538). วิทยาทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : เทพรัตน์พับลิช ชิ่งกรุ๊ป.
    7. โยธิน ศันสนยุทธ และคณะ. (2538). จิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ศูยน์ส่งเสริมวิชาการ,
    8. โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน. สุปาณี สนธิรัตน และคณะ แปลและเรียบเรียง. (2537). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพมหานคร : เนติกุลการพิมพ์.
    9. สุชา จันทน์เอม. (2531). จิตวิทยาทั่วไป ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช.
  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา (Psychology)

    ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา (Psychology)

    ความหมายของจิตวิทยา

    คำว่า Psychology (จิตวิทยา) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ

    ได้แก่ Psyche (Mind = จิตใจ) และ Logos (Knowledge = ศาสตร์ องค์ความรู้)ความหมายโดยรวมของ Psychology จึงหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของอินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจทำนาย และควบคุมพฤติกรรมนั้นๆ ได้

    *สามารถติดตามตำนาน เทพนิยายของ Psyche (ไซคี) หญิงสาวผู้ถูกนำชื่อมาใช้ในการอธิบายวิทยาการทางจิตวิทยาทั้งมวลได้ในส่วนของ Mythology ในโอกาสต่อไป

    จิตวิทยาตามแนวพุทธ
    จิตวิทยา ตามแนวพุทธนั้นจะเน้นไปในทางปัญญาดังที่ ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้วเขียนไว้ในหนังสือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดแนวพุทธว่า จิตใจเป็นรากฐานของความรู้สึก ความคิด การกระทำ บุคลิกภาพ ทัศนะ ที่มีต่อโลก ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และทิศทางในการดำเนินชีวิตจิตใจเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต ของระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกันและกันเป็นเนื้อเดียวกัน กิจกรรมต่างๆ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนสังคม องค์กร ระดับระหว่างประเทศ ล้วนแต่มีจิตใจเป็นรากฐานและกำหนดทิศทางของกิจกรรมและกาเรเคลื่อนไหวเหล่านั้นทั้งสิ้น

    การศึกษาเรื่องจิตใจจึงเป็นการศึกษาถึงความเกี่ยวพันเป็นหนึ่งเดียวกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่รวมกันแล้วเป็นชีวิต ชีวิตจึงเป็นคำที่ชี้ถึงการดำรงอยู่โดยความเชื่อมโยงกันอย่างเอื้ออาศัยกันของทุกสิ่งในจักรวาล ชีวิตในสายตาของนักเคมีอาจมีความอย่างหนึ่ง ชีวิตในสายตาของนักชีววิทยาอาจมีความหมายอย่างหนึ่ง ชีวิตในสายตาของนักธุรกิจอาจมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตในสายตาของนักวิทยาศาสตร์อาจมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตในตัวเองเป็นภาวะแห่งการดำรงอยู่ในภาวะของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และพึ่งพาอาศัยกันและกันและมีจิตใจเป็นรากฐานของความเป็นไปนั้น

    พุทธศาสตร์กับวิชาจิตวิทยา
    วิชาจิตวิทยาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจ เพิ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังมาไม่นานนี่เอง มีพื้นฐานมาจากวิชาปรัชญาเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ปัจจุบันได้แตกสาขาออกไปมากมาย เช่นพฤติกรรมศาสตร์ จิตเวช หรือแทรกเป็นยาดำอยู่ในศาสตร์อื่นๆ ไม่มากก็น้อย ทฤษฎีทางจิตวิทยาก็มีอยู่มากมายในการอธิบายความเป็นไปของมนุษย์ มีการทดลอง มีการค้นคว้าร่วมกับการทำงานของสมองซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปมากพอสมควร

    สิ่งหนึ่งที่ความรู้ทางจิตวิทยายังไปไม่ถึงคือกลไกการทำงานของจิต เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีนักจิตวิทยาระดับโลกชื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เสนอโครงสร้างของจิตออกมาเป็นที่ฮือฮากันไปทั่ววงการ โดยเสนอว่า จิตแบ่งหน้าที่ออกเป็นสามส่วนคือ

    ID คือความอยากได้ อยากมี หรือตัณหาในภาษาไทยนั่นเอง

    EGO คือตัวตนของมนุษย์ที่แท้จริงที่อยากจะทำตามที่ตัณหาต้องการ

    SUPER-EGO คือตัวตนอีกตัวหนึ่ง แต่เป็นตัวตนที่พยายามระงับความอยาก ความต้องการของตัณหา

    ฟรอยด์ได้ใช้ทฤษฎีนี้ในการอธิบายกลไกการเกิดปัญหาทางจิตใจว่า เกิดจากความไม่สมดุลย์ในการทำหน้าที่ของจิตทั้งสามส่วนนี้ เช่นบางครั้ง SUPER-EGO มีมากเกินไป มนุษย์ก็จะเกิดการเก็บกด ฟรอยด์ก็เสนอว่าให้สนองตัณหาเสียบ้าง เป็นการระบายความเก็บกด ในยุคนั้นทฤษฎีของฟรอยด์เลยถูกวิจารณ์กันขนานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องกามารมณ์

    ว่าไปแล้วทฤษฎีของฟรอยด์ก็เป็นไปตามวิถีของปุถุชนนั่นแหละ ไม่ต่างจากทฤษฎีของอินเดียโบราณสักเท่าไหร่ อย่างเรื่องกามสุขัลลิกานุโยค คือปล่อยให้ EGO สนองตัณหากันให้เต็มที่ กับ อัตตกิลมถานุโยค นั่นคือ ปล่อยให้ SUPER-EGO ทำงานข่ม EGO ให้ตายไปข้างหนึ่ง

    เป็นที่น่าเสียดายว่าพุทธศาสตร์ได้ค้นพบกลไกของจิตที่นักปรัชญาและนักจิตวิทยาต้องการนักหนา แต่กลับไม่ได้มาค้นหาในศาสตร์นี้ แต่ว่าไปแล้วเรื่องกลไกของจิตก็ถูกซ่อนไว้อย่างดีในพระไตรปิฎกมานับพันปีในชื่อของปฏิจจสมุปบาท แม้แต่ชาวพุทธเองก็รู้เรื่องนี้น้อยเต็มทน ในประวัติศาสตร์ ฟรอยด์เองก็ได้วิจารณ์ศาสนาพุทธว่าเป็นลัทธิที่มองโลกในแง่ร้าย คือมองแต่เรื่องทุกข์ คงมีแต่ไอสไตน์เท่านั้นที่ยังมองศาสนาพุทธในแง่ดี

    เมื่อเปรียบเทียบกับพุทธศาสตร์กับจิตวิทยาของฟรอยด์แล้ว พุทธศาสตร์แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางจิตใจของมนุษย์เกิดจาก ID หรือตัณหา ส่วน EGO เป็นผลที่เกิดตามมาจากตัณหาอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งสนองตัณหาเท่าไหร่ EGO ก็ยิ่งเจริญเติบโต ก็ยิ่งทุกข์เพราะสนองไม่ทัน ความจริง SUPEREGO ที่

    ฟรอยด์พูดถึง เป็นตัวตนส่วนที่ดีงาม เป็นสติปัญญาของมนุษย์ ที่คอยต่อสู้กับตัณหา แต่ฟรอยด์กลับมอง SUPER-EGO ผิดไป

    พุทธศาสตร์น่าจะเป็นบิดาแห่งวิชาจิตวิทยาหรือจิตเวชในปัจจุบัน หากนำไปปูเป็นวิชาพื้นฐานในศาสตร์เหล่านี้รวมทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ชาวโลกได้ประโยชน์จากการประยุกต์ศาสตร์เหล่านี้บ้าง

    ความหมายของจิตวิทยา

    ได้มีผู้ให้ความหมายของจิตวิทยาไว้หลายท่านด้วยกัน

    วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยกิริยา อาการ ของมนุษย์

    ฮิลการ์ด (HilGard) อธิบายว่า จิตวิทยา หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์

    มอร์แกรน (Morgan) กล่าวว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยกรรมมนุษย์สัตว์(วิภาพร มาพบสุข.2542/2)

    Walter B”Kosesnik ว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาฯ(รศ.ดร.กันยา สุวรรณแสง.2542/12)

    จอห์น บี.วัตสัน ว่าจิตวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม(รศ.ดร.กันยา สุวรรณแสง.2542/12)

    นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณเชื่อว่ามนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือภาคร่างกายและวิญญาณ แต่ละภาคจะเป็นอิสระต่อกัน เมื่อมนุษย์ตายไปแล้วควรเก็บร่างกายเอาไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้วิญญานที่ล่องลอยไปหวนคืนเข้าสู่ร่างเดิม

    ปัจจุบันจิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมและประสบการณ์ จะศึกษาเน้นเฉพาะพฤติกรรมที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เท่านั้น กล่าวคือการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ จะต้องศึกษาประสบการณ์เดิมช่วย และปฏิกิริยาที่ตอบสนองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าเป็นพฤติกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามปกติไม่มีกรเปลี่ยนแปลงการตอบสนองเลย เช่น การหุบใบของต้นไมยราบเมื่อมีอะไรมาถูกต้อง เช่นนี้ไม่อยู่ในข่ายของพฤติกรรมทางจิตวิทยา

    จากความหมายดังกล่าวข้างต้น พอสรุปความหมายของวิชาจิตวิทยาได้ดังนี้ จิตวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือกิริยาอาการของมนุษย์ รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้างในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดคะเนหรือพยากรณ์ได้ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการช่วยวิเคราะห์ มีนักจิตวิทยาหลายท่านที่ได้รับการยอมรับและใช้ทฤษฎีของเขามาจนปัจจุบัน

    1. ความสำคัญของจิตวิทยา
      จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ดังนั้นผู้ศึกษาวิชาจิตวิทยาจึงสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและ สถานที่ทำงาน ตลอดจนมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งนี้เพราะหลักการทางจิตวิทยาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับงานต่างๆ มากมาย ความสำคัญและคุณค่าของวิชาจิตวิทยา เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ (ปราณี รามสูต, 2542, หน้า 4-5)

    จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น มักให้ความสนใจตนเองมากกว่าผู้อื่นและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับตนเอง การศึกษาจิตวิทยาซึ่งให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ จึงช่วยให้ผู้ศึกษานำไปเปรียบเทียบกับตนเองและเกิดความเข้าใจตนเองไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้มนุษย์รู้จักยอมรับตนเองและได้แนวทางในการจัดการกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นอาจเป็นการปรับตัว พัฒนาตน หรือเลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับต้นเองเป็นต้น

    จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจผู้อื่น ศาสตร์ทางจิตวิทยาซึ่งเป็นข้อสรุปธรรมชาติพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ นอกจากช่วยให้ผู้ศึกษาเกิด ความเข้าใจ พฤติกรรมของบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเป็นแนวทางให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ที่อยู่แวดล้อมด้วยอันอาจจะเป็นบุคคลในครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มบุคคลภายนอก ความเข้าใจดังกล่าวส่งผลให้เกิดการยอมรับในข้อดีข้อจำกัดของกันและกัน ช่วยให้มีการปรับตัวเข้าหากัน และยังช่วยการจัดวางตัวบุคคล ให้เหมาะสมกับงานหรือการเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ดีมากขึ้น

    จิตวิทยาช่วยให้ได้แนวทางในการวางกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น กฎหมายบ้านเมือง ระเบียบปฏิบัติบางประการมักเกิดขึ้น หรือถูกยกร่างขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น จิตวิทยาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความต้องการการยอมรับ ความต้องการสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคน ส่งผลให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือการจัดให้มีวันเด็กแห่งชาติ ปีสากลสำหรับผู้สูงอายุ หรือเกิดองค์กรบางลักษณะที่ทำงานในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลบางกลุ่ม หรือสำหรับผู้ด้อยโอกาสบางประเภท หรือแม้แต่การจัดให้มีการแข่งขันกีฬานานาชาติสำหรับคนพิการ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการนำความรู้เรื่องจิตวิทยาสำหรับผู้มีลักษณะพิเศษมาเป็นแนวทางปฏิบัติบางประการทางสังคม นอกจากนั้น จิตวิทยายังมีผลต่อ กฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความผิดทางกฎหมายบางลักษณะโดยมีการนำสามัญสำนึกมาร่วมพิจารณาความผิดของบุคคล เช่น กฎกมายว่าด้วยการกระทำ ความผิดของผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีสุขภาพจิตบกพร่องที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยเพราะความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งจิตวิทยาจะช่วยให้ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจความผิดปกติต่างๆเหล่านั้นได้มากกว่าศาตร์สาขาอื่น ช่วยให้การพิจารณาบุคคลหรือการวางเกณฑ์ทางสังคม เป็นไปอย่าง สมเหตุสมผลมากขึ้น

    จิตวิทยาช่วยบรรเทาปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสังคม ความรู้ทางจิตวิทยาในบางแง่มุมช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจในอิทธิพลของสิ่งเร้า และสิ่งแวดล้อมทีมีผลต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพบางลักษณะ เช่น ลักษณะความเป็นผู้หญิง ลักษณะความเป็นผู้ชาย ลักษณะผิดเพศบางประการ รวมไปถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนบางประเภท รายการโทรทัศน์บางลักษณะที่ส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอยากทำลาย หรือเกิดความเชื่อที่ผิด หรือเกิดการลอกเรียนแบบอันไม่เหมาะสมซึ่งมีผลกระทบต่อการกระทำในเชิงลบฯลฯ เป็นต้น

    จากความเข้าใจดังกล่าวนี้นำไปสู่การคัดเลือกสรร สิ่งที่นำเสนอเนื้อหาทางสื่อมวลชนให้เป็นไปทางสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมของเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น จากคำอธิบายของจิตวิทยาในเรื่องของเจตคติของบิดามารดาบางประการที่ส่งผลให้เด็กมีลักษณะลักเพศ ก็อาจจะเป็นแนวคิดแก่บิดามารดา ในการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมต่อไป อันนับเป็นการบรรเทาปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคมไปได้บ้าง

    จิตวิทยาช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยการเลี้ยงดูในวัยเด็กอันมีผลต่อบุคคลเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ส่งผลให้เกิด ความพยายาม ในการสร้างรูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาคนทั้งกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อให้ได้คนดีมีประสิทธิภาพ หรือคนที่มีคุณลักษณะอันพึงปรารถนาของสังคมนั้นๆ และจิตวิทยายังช่วยให้ผู้ศึกษารับรู้โดยเร็ว เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยในพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ อันนำไปสู่การแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาพฤติกรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางลักษณะที่ไม่เหมาะสมของบุคคล จึงกล่าวได้ว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกศาสตร์หนึ่ง

    1. ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา
      จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้ การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ

    ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแนวคิดทางศาสนาเน้นว่าจิตเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย

    ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ๆ มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการก็เริ่มมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอน กล่าวว่า “ทฤษฎีให้แนวทาง การวิจัยให้คำตอบ” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย

    กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประจักษ์นิยมชาวบริเตน (British Empiricism) ที่เชื่อว่า ความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางของความรู้สึก จิตเป็นที่รวมของความคิดเห็น นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธนิยม (Associationistic Psychology) นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งกลับสนใจทางชีวภาพ เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และ ลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) นักจิตวิทยากลุ่มนี้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ คือ จิตฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกที่ผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา

    จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา
    จิตวิทยาเป็นวิชาที่จัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้

    เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรม (Understanding Behavior) ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอก กระบวนการทางจิต (Mental Process) ที่เกิดขึ้นภายใน อันจะทำให้สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

    เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายพฤติกรรม (Explanation Behavior) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นต่างมีเหตุจูงใจในการแสดงพฤติกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นนักจิตวิทยาจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ เพื่ออธิบายถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ๆ

    เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถทำนายพฤติกรรม (Prediction Behavior) ซึ่งการทำนายนั้นหมายถึงการคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

    เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถควบคุมพฤติกรรม (Control Behavior) ที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดลงหรือหมดไป โดยในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องสามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นใหม่ด้วย

    เพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (Application) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และ/หรือสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพจิตวิทยา

    1. กลุ่มต่างๆ ของจิตวิทยา
      กลุ่มแนวคิดทางจิตวิทยา (Schools of Psychology) หมายถึง แนวคิด ทฤษฎีที่สำคัญและระเบียบวิธีการทางจิตวิทยาเพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจและเปรียบเทียบความแตกต่างและความคล้ายคลึงของกลุ่มเป็นการจัดระเบียบแนวคิดให้เป็นหมวดหมู่ตามความเชื่อและวิธีการศึกษา โดยจัดแบ่งได้ 7 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
    2. กลุ่มโครงสร้างแห่งจิต (Structuralism)
      กลุ่มนี้เกิดขึ้นในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงความเจริญก้าวหน้าของวิชาเคมีที่มีการวิเคราะห์ สารประกอบของธาตุต่างๆ โดยอาศัยการตรวจพินิจภายในที่เกิดจากการใช้ความรู้สึก การสัมผัสและมโนภาพ ดังนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาในกลุ่มนี้คือ การวิเคราะห์หาโครงสร้างของจิตโดยเรียกกระบวนการศึกษาจิตวิธีนี้ว่า การพินิภายใน (Introspection) เป็นการให้ผู้ถูกทดลองพิจารณาประสบการณ์ทางจิตตนเองขณะได้รับสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส ละอธิบายความรู้สึกของตนที่เกิดขึ้น ความเชื่อเบื้องต้นที่เป็นมูลเหตุให้สนใจศึกษาเรื่องจิตธาตุ (Mental Elements) มาจากความเชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย (Body) กับจิตใจ (mind) ซึ่งต่างเป็นอิสระต่อกันแต่ทำงานสัมพันธ์กัน ดังนั้น การกระทำของบุคคลจึงเกิดจากการควบคุมและสั่งการจิตใจ ผู้นำกลุ่มนี้ คือ William Wundt เขาสรุปว่าส่วนนี้มาสัมพันธ์กันภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดเป็นความคิด อารมณ์ ความจำ เป็นต้น
    3. กลุ่มหน้าที่แห่งจิต (Functionalism)
      กลุ่มนี้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1900 ผู้นำกลุ่มคือ John Dewey หรือ William James แนวคิดของกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากลัทธิปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยม (Pragmatism) และทฤษฎีที่สำคัญทางชีววิทยาคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาล์ส ดาร์วิน (Chartles Darwin) จึงเกิดการรวมตัวขิง 2 กลุ่มนี้ขึ้น ทฤษฎีวิวัฒนาการอธิบายถึงการดำรงอยู่ของสัตว์ที่ต้องต่อสู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตควรต้องศึกษาหน้าที่ของจิตต่อการปรับตัวภายในจิตใต้สำนึกมากกว่าการแยกแยะองค์ประกอบโครงสร้างของจิตออกเป็นส่วนๆ กลุ่มนี้เชื่อว่าจิตสำนึกของมนุษย์ทำให้กระบวนการคิดและการตัดสินใจช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ กล่าวโดยสรุปคือ กกลุ่มนี้เชื่อว่าจิตมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมเพื่อปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม

    อย่างไรก็ตามทั้ง John Dewey และ William James ก็มีจุดเน้นที่ต่างกัน John Dewey เชื่อว่าเป็นประสบการณ์ (Experience) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ William James เชื่อในเรื่องสัญชาติญาณ (Instinct) ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญกว่า กลุ่มหน้าที่ของจิตใช้วิธีการศึกษาแบบสอบถาม การทดลองทางจิตวิทยาและวิธีพรรณนาเกี่ยวกับเชิงปรนัยมิใช่ใช้เพียงการพินิจภายในเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น John Dewey ยังได้นำหลักของความคิดแนวนี้มาใช้กับการศึกษา โดยเขาเห็นว่าการเรียนการสอนควรมีจุดเน้นที่ความต้องการของผู้เรียนไม่ใช่เนื้อหาในหลักสูตร กล่าวโดยสรุป แนวคิดของกลุ่ม Functionalism เป็นดังนี้

    การกระทำทั้งหมดหรือการแสดงออกมนุษย์เป็นการแสดงออกของจิตเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การศึกษาจิตใจคนจึงต้องศึกษาที่การแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ

    การกระทำหรือการแสดงออกทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล พฤติกรรมของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป

    1. Sigmund Freud ผู้นำกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychology)
      กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychology) ผู้นำกลุ่มคือ Sigmund Freud จิตแพทย์ชาวเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นผู้วางรากฐานของจิตวิทยาคลินิก ทฤษฎีของเขาเริ่มจากการศึกษาคนไข้โรคจิตในคลินิกของตัวเอง จุดเน้นของจิตวิเคราะห์อยู่ที่การประยุกต์วิธีใหม่ในการบำบัดรักษาบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ข้อมูลส่วนใหญ่จึงได้จากการสังเกตในคลินิกมิได้มาจากทำลองในห้องปฏิบัติการ พื้นฐานแนวคิดนี้มาจากความสนใจเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกและเชื่อว่าแรงขับทางเพศมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์มาก ความคิดหลักของ Freud คือ จิตมีลักษณะเป็นพลังงานเรียกว่า พลังจิตซึ่งควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของบุคคล อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของ Freud ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก Freud อธิบายว่า จิตของมนุษย์มี 3 ระดับ โดยเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็ง (Ice burg) คือ จิตสำนึก (Conscious mind) เปรียบเหมือน Ice burg ส่วนที่พ้นผิวน้ำซึ่งมีปริมาณเล็กน้อยเป็นสภาพที่บุคคลมีสติ รู้ตัว การแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลและแรงผลักดันภายนอกสอดคล้องกับหลักของความจริง (Principle of Reality) จิตใต้สำนึก (Subconscious mind) หรือจิตกึ่งสำนึก (Preconscious) เปรียบเหมือน Ice burg ที่อยู่ปริ่มผิวน้ำ เป็นสภาพที่บุคคลมีพฤติกรรมไม่รู้ตัวในบางขณะ หรือพูดโดยไม่ตั้งใจ ประสบการณ์ที่ผ่านมากลลายเป็นความทรงจำในอดีตที่จะถูกเก็บไว้ในจิตส่วนนี้ เมื่อไม่นึกถึงก็จะไม่รู้สึกอะไรแต่เมื่อนึกถึงจะสะเทือนใจทุกครั้ง จิตไร้สำนึก (Unconscious mind) เปรียบเหมือน Ice burg ที่อยู่ใต้ผิวน้ำซึ่งมีปริมาณมากเป็นส่วนของพฤติกรรมภายในที่บุคคลกระทำโดยไม่รู้ตัว ซึ่ง Freud วิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากการถูกเก็บกดหรือพยายามจะลืม เช่น ความอิจฉา ความเกลียดชัง ความขมขื่นปวดร้าว บางเหตุการณ์เหมือนจะลืมไปจริงๆ แต่ Freud อธิบายว่าแท้จริงสิ่งเหล่านั้นมิได้หายไปไหนแต่จะถูกเก็บไว้ในจิตไร้สำนึกและจะปรากฏออกมาในรูปของความฝัน การละเมอ เป็นต้น นักจิตวิเคราะห์ให้ความสำคัญกับเรื่องจิตไร้สำนึกและการปฏิบัติงานของจิตไร้สำนึกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตหรือระบบประสาท จิตไร้สำนึกจึงเป็นเหตุจูงใจให้บุคคลแสดงพฤติกรรมแทบทุกอย่าง นอกจากนั้นแนวคิดนี้ยังมีความเชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหลายมีเหตุจูงใจมากกว่าพลังแรงขับทางเพศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม Freud ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของบุคคลดำเนินไปสู่จุดหมายของหลักแห่งความพึงพอใจ (Principle of Pleasure) หรือเพื่อความสบายใจเป็นสำคัญส่วนใหญ่เป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีสาเหตุมาจากสัญชาติญาณแห่งการดำรงพันธุ์ (Sexual Instinct) อีกทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกยังต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามหลักแห่งความจริง (Principle of Reality) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นตามสภาพแวดล้อมของสังคมและวัฒนธรรม ฉะนั้น พฤติกรรมบางอย่างที่แสดงออกตามความพอใจ เช่น สัญชาติญาณแก่งการดำรงพันธุ์ซึ่งมีตั้งแต่เด็กจึงต้องถูกกดไว้ ในบางครั้งจึงเกิดภาวะการขัดแย้งอย่างรุนแรงผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นพลังแห่งงจิตไร้สำนึก Freud กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญของจิตไว้ 3 ส่วน คือ Id Ego และSuper ego รวม เรียกว่า พลังจิต Id เป็นสัญชาติญาณ และแรงขับที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นความต้องการดั้งเดิมของมนุษย์ เป็นแหล่งเก็บพลังงานจิตทั้งหมดที่มีอยู่ในจิตไร้สำนึก เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ การขับถ่าย การเคลื่อนไหว ความต้องการทางเพศ รวมทั้งสัญชาติญาณแห่งการทำลายและสัญชาติญาณแห่งความตาย (Death Instinct) มนุษย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งความพอใจจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้ตามความต้องการ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือกฎระเบียบของสังคมใดๆ Id จึงเป็นความต้องงการใฝ่ต่ำที่มีพลังขับให้ทำตามความต้องการที่มีมาแต่เกิด และพลังขับที่มีแรงผลักดันมากคือ สัญชาติญาณทางเพศ Ego เป็นพลังจิตส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งบุคคลได้จากการเรียนรู้และการอบรม เป็นพลังที่ควบคุม Id ไม่ให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม ไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม เป็นความพยายามในการปรับปรุงตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ทางออกของ Ego ส่วนหนึ่งคือ การใช้กลวิธานในการป้องตนเอง (Defence Mechanism) เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายความทุกข์จากการเก็บกดและการระงับความขัดแย้งระหว่างความต้องการของตนเองกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี Ego เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมให้เป็นไปอย่างเหมาะสมระหว่าง Id และ Super ego Super ego เป็นผลของการถูกลงโทษจากสังคมทำให้เกิดการเรียนรู้จนกลายเป็นทัศนคติ (Attitude) คุณค่า (Value) และอุดมคติ (Ideal) เป็นความสามารถในการควบคุมตนเองสามารถแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ดังนั้น Super ego จึงหมายถึงค่านิยมความรู้สึกผิดชอบชั่วดีระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมคุณธรรมหลักศีลธรรมเป็นพลังที่กำหนดให้บุคคลแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับหลักแห่งความจริงและเลือกใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง (Defence Mechanism) อย่างเหมาะสม
    2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) จอห์น บี วัตสัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้นำแนวคิดที่สำคัญที่เสนอให้มีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านที่สังเกต และมองเห็นได้ ซึ่งจัดว่าเป็นการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้วัตสันได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของจิตวิทยาสมัยใหม่ แนวคิดของพฤติกรรมนิยมเน้นว่าพฤติกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุและเหตุนั้นอาจมาจากสิ่งเร้าในรูปใดก็ได้มากระทบอินทรีย์ ทำให้อินทรีย์มีพฤติกรรมตอบสนอง นักคิดในกลุ่มนี้จึงมักศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการทดลองและใช้การสังเกตอย่างมีระบบจากการทดลอง โดยสรุปว่าการวางเงื่อนไขเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและถ้าเรารู้สาเหตุของพฤติกรรมเราก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้
    3. กลุ่มเกสตอลท์ (Gestalt Psychology) กลุ่มเกสตอลท์ เป็นกลุ่มแนวคิดทางจิตวิทยาที่ตั้งขึ้นโดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมันเพื่อโต้แย้งกลุ่มทางจิตกลุ่มอื่น โดยมีแนวคิดว่าการศึกษาจิตสำนึกนั้นจะต้องศึกษาจากการรับรู้ของมนุษย์ ซึ่งจะมุ่งความสนใจไปที่หลักการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดระบบการรับรู้ของมนุษย์และจากการศึกษาพบว่ามนุษย์จะรับรู้ส่วนรวมของสิ่งเร้ามากกว่าเอาส่วนย่อย ๆ ของสิ่งเร้านั้นมารวมกัน นอกจากจะศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้แล้ว นักจิตวิทยากลุ่มนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้น กำเนิดของการพัฒนาจิตวิทยากลุ่มความรู้ความเข้าใจ
    1. กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
      จิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยมพัฒนาขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1940 โดยเชื่อว่าเราสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ได้ดีขึ้นด้วยการศึกษาถึง การรับรู้ของบุคคลที่เกี่ยวกับตนเอง ความคิดส่วนตัวที่เขามีต่อบุคคลอื่นและโลกที่เขาอาศัยอยู่ และยังมีความเชื่อว่า มนุษย์ เรามีคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้เราแตกต่างไปจากสัตว์คือมนุษย์เรามีความมุ่ง มั่นอยากที่จะเป็นอิสระ เราสามารถกำหนดตัวเองได้และเรามีพลังจูงใจ (Motivational Force) ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สมบูรณ์ขึ้น ที่แสดงถึงความเป็นจริงแห่งตน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ให้เต็มที่ (Self Actualization)

    7. กลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism)

    ผู้นำกลุ่มนี้คือ เพียเจต์ บรูเนอร์ และวายเนอร์ หลังปี ค.ศ.1960 กลุ่มแนวคิดปัญญานิยม สนใจศึกษาเรื่องกระบวนการทางจิตซึ่งเป็น พฤติกรรมภายในที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง ได้แก่ การรับรู้ การจำ การคิด และความเข้าใจ เช่น ขณะที่เราอ่านหนังสือ เราจะทราบความสำคัญของข้อความ คำต่างๆ เนื้อหาของเรื่องมากกว่าการรับรู้ตัวอักษร

    นักวิจัยในกลุ่มปัญญานิยมสันใจศึกษากระบวนการทางจิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มองไม่เห็นภายในตัวบุคคลด้วย วิธีการวัดแบบวิทยาศาสตร์ แนวความคิดของกลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์จะเป็นผู้กระทำต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำตามสิ่งแวดล้อม เพราะจากความรู้ ความเชื่อและความมีปัญญาของมนุษย์ จำทำให้มนุษย์สามารถจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาในสมองมนุษย์ได้ เช่น ยูริค ไนเซอร์ (UlricNeisser) กล่าวว่า บุคคลต้องแปลผลสิ่งที่รับรู้มาเพื่อให้เข้าใจโลกรอบตัวของเขาได้ ดังนั้นเป้าหมายของนักจิตวิทยากลุ่มนี้คือ สามารถระบุเจาะจงได้ว่ากระบวนการของจิตเกี่ยวข้องกับการแปลความหมายสิ่งที่บุคคลรับเข้ามา แล้วส่งต่อให้หน่วยรับข้อมูล เพื่อแปลผลอีกครั้งหนึ่งว่ามีกลไกอย่างไรบ้างที่ช่วยจัดระบบระเบียบการจำและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พบเห็นได้ด้วยวิธีใด การทำงานของระบบความจำ และการใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา

    ลักษณะ การรู้การคิด (Cognition) หมายถึง กระบวนการทางจิตซึ่งทำการเปลี่ยนข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสไปในรูปแบบต่างๆ กระบวนการนี้ทำหน้าที่ตั้งแต่ลดจำนวนข้อมูล (Reduced) เปลี่ยนรหัส (Code) และส่งไปเก็บไว้ (Store) ในหน่วยความจำและรื้อฟื้นเรียกคืน (Retrieve) มาได้เมื่อต้องการ การรับรู้ จินตนาการ การแก้ปัญหา การจำได้ และการคิด คำเหล่านี้ล้วนอธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ เมื่อเกิดการรู้-การคิด นักจิตวิทยากลุ่มนี้คัดค้านว่ามนุษย์เรามิได้เป็นเพียงแต่หน่วยรับสิ่งเร้า ที่อยู่เฉยๆ เท่านั้น แต่จิตจะมีกระบวนการสร้างข้อสนเทศขึ้นใหม่หรือชนิดใหม่ การ ตอบสนองของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานของจิตในการประมวลผลข้อมูล และเมื่อมีข้อมูลใหม่หรือประสบการณ์ใหม่การตอบสนองก็เปลี่ยนไปได้

    วิธีการศึกษาของนักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม จะเน้นวิธีการทดลองเป็นส่วนใหญ๋ เช่น การทดลองให้ผู้รับการทดลองตั้งเทียนไขให้ขนานกับแนวฝาผนังโดยไม่มีอุปกรณ์ให้ ผู้รับการทดลองต้องใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ ซึ่งมักจะประสบความยุ่งยากในการแก้ปัญหา และต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆจากการใช้อุปกรณ์ที่มี จากการทดลองนี้วีคิดแบบเก่าๆ จะมีผลสกัดกั้นความคิดใหม่ๆได้ เพราะฉะนั้นบุคคลจะมีวิธีการเอาชนะวิธีคิดที่ตนเองคุ้นเคยได้อย่างไร และบุคคลจะสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างไร

    5. แขนงสาขาต่างๆ ของจิตวิทยา

    สาขาต่างๆ ของจิตวิทยา

    ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบแล้วว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์แขนงใหญ่แขนงหนึ่งซึ่งแต่เดิมนั้นจิตวิทยามีรากฐานมาจากวิชาปรัชญาที่ศึกษาจิตด้วยการสังเกตและสำรวจประสบการณ์ด้วยตนเองในเมื่อเป็นศาสตร์ที่แยกมาเป็นอิสระแล้วแนวทางในการศึกษาศาสตร์นี้จึงจำแนกออกเป็นสาขาย่อยหลายสาขาดังเช่นสาขาสำคัญๆ ต่อไปนี้

    1. จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เบื้องต้นของพฤติกรรมเป็นส่วนที่ว่าด้วยหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา
    2. จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ศึกษาพัฒนาการเรียนการสอนและวิธีการส่งเสริมประสิทธิภาพของการเรียนรู้โดยนำหลักทางจิตวิทยามาใช้
    3. จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ศึกษาพัฒนาการด้านต่างๆของมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงวัยต่างๆโดยเน้นทำความเข้าใจการพัฒนาการด้านร่างกายสติปัญญาอารมณ์และสังคม
    4. จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) เป็นสาขาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของบุคคลที่มีผลกระทบกับสังคมไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
    5. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) เป็นสาขาที่ค้นหาวิธีการและหลักการของจิตวิทยาที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของธุรกิจต่างๆเช่นในอุตสาหกรรมโรงงานธุรกิจการบริการต่างๆเป็นต้นตลอดจนยังเป็นการศึกษาผลของสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆที่มีผลต่อการทำงานด้วย
    6. จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) ศึกษาพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยเน้นใช้วิธีการทดลองในห้องปฏิบัติการหรือเป็นกระบวนการทดลองในลักษณะอื่นๆเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและผลของพฤติกรรมได้อย่างเชื่อมั่นมากขึ้นเช่นการทดลองเรื่องการเรียนรู้การคล้อยตามกาารอบรมเลี้ยงดูเป็นต้น
    7. จิตวิทยาอปกติ (Abnormal Psychology) เป็นการศึกษาสาเหตุการป้องกันแก้ไขพฤติกรรมที่มีความผิดปกติของมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย
    8. จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) เป็นการศึกษาถึงการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและการให้บริการบำบัดรักษามนุษย์ที่มีปัญหาทางจิตเช่นปัญหาการก่ออาชญากรรมการติดยาเสพติดเป็นต้น

    6. วิธีการค้นคว้าทางจิตวิทยา

    จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์

    จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่หลายคนสงสัยว่าจะสามารถศึกษาพฤติกรรมของคนได้ถูกต้องลึกซึ้งเพียงใดบางคนถึงขั้นปฏิเสธความเป็นวิทยาศาสตร์ของจิตวิทยาเลยทีเดียวแต่นักจิตวิทยาพยายามสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์ทุกขั้นตอนแต่ได้กระทำอย่างมีกระบวนการสามารถบอกความสัมพันธ์และความแตกต่างของเหตุการณ์ได้โดยใช้การทดลองทำนายผลที่แน่นอนเช่นเดียวกับการศึกษาเรื่องอะตอมและโมเลกุลรวมทั้งการเคลื่อนไหวบนโลกแต่จิตวิทยาก็ไม่สามารถตอบปัญหาได้ทุกประเด็นแต่ก็สามารถบอกได้ว่ามนุษย์ควรจะทำอย่างไรหรือทำไมจึงต้องแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมา (Camille B” WortmanElixabethF. Loftus 1988-3)

    นอกจากนี้เนื้อหาวิชาของจิตวิทยาได้มาโดยกระบวนการครบขั้นตอนตามกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์โดยลำดับคือ

    1. ตั้งปัญหาขึ้น Formulating of Problem ผู้ศึกษาต้องตั้งจุดประสงค์ให้แน่นอนว่าจะศึกษาด้านใดต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างแล้วใช้ชื่อเรื่องหรือชื่อปัญหาที่จะทำการศึกษา อาจจะได้มาโดยวิธีการสังเกต หรือทำการศึกษาค้นคว้าจากตำรา หรืเอกสาร เพื่อนำมาประกอบเป็นแนวความคิด
    2. ตั้งสมมุติฐาน Stating the Hypothesis เพื่อแก้ปัญหานั้นๆหลังจากตั้งปัญหาแล้วผู้ศึกษาจะต้องพยากรณ์ล่วงหน้าหรือคาดคะเนว่าคำตอบของปัญหาน่าจะเป็นอะไรตามความนึกคิดความเชื่อของตนจะต้องมีเหตุผลสนับสนุนสมมติฐานจองตนพอสมควร
    3. รวบรวมข้อมูล Collecting the Data คือการเสาะแสวงหาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ได้มาด้วยวิธีการต่าง เช่นการทดลองการสัมภาษณ์ หรือการใช้แบบสอบถาม
    4. ปฏิบัติการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูล Testing and Analysis the Data หาข้อเท็จจริงทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นจริงหรือไม่และทำการวิเคราะห์โดยหาค่า
    5. ประเมินและสรุปผลสรุปเป็นกฎเกณฑ์ทฤษฏีหรือคำตอบเป็นการแปลความหมายและรายงานผล
    6. นำผลที่ได้ไปใช้ (Applying the Finding) คือนำผลซึ่งพิสูจน์แล้วไปใช้เป็นหลักเกณฑ์นำไปอธิบายพฤติกรรมและปัญหาต่างๆ จิตปัญหาได้ชื่อว่าเป็นวิทยาศาสตร์เพราะข้อมูลที่นำมาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์นั้นได้มาโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มีการทดลองนำวีการทางสถิติวิจัยมาช่วยแปลความหมายข้อมูล

    จิตวิทยามีวิธีการเหมือนกับวิชาวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ มีการรวบรวมความจริงพิสูจน์ทดลองค้นคว้าหาความจริงอย่างมีวิธีการมีแบบแผนมีการสรุปผลที่แน่นอน

    วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา

    ในปัจจุบันมีวิธีการสำหรับในการศึกษาทางจิตวิทยา 2 วิธี คือ

    1. วิธีการศึกษาแบบธรรมชาติ (Natural Method)
    2. วิธีการศึกษาแบบทดสอบ (Experimental Method)

    1. วิธีการศึกษาแบบธรรมชาติ

    เป็นวิธีการศึกษาทางจิตวิทยาอย่างง่ายๆ การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่ต้องการจากสภาพที่เป็นอยู่ตามธรรมชิตซึ่งมีวิธีต่างๆ ดังนี้

    1.1 วิธีการสังเกต Observation เป็นวิธีการเฝ้ามองและจดบันทึกพฤติกรรมของบุคคลอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความคิดเห็นส่วนตัววิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด

    1.2 วิธีสำรวจ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมที่มีอยู่แล้วมาศึกษาแล้วใช้ความรู้ทางสถิติสรุปผลเช่นสำรวจนักเรียนในโรงเรียนว่ามีร้อยละเท่าไรที่ไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเป็นต้น

    1.3 วิธีพินิจภายใน Introspection เป็นวิธีการตรวจสอบจิตหรือความรู้สึกของบุคคลเมื่อต้องการทราบว่าเขาคิดอย่างไรเช่นเด็กชายอุดมกระโดดชกเพื่อนร้องไห้ในพฤติกรรมดังกล่าวครูจะต้องเรียกเด็กชายอุดมมาไต่ถามว่าเพราะเหตุใดจึงทำเช่นนนั้นและเขาคิดอย่างไรเพื่อครูจะได้เข้าใจถึงสุขภาพจิตและความรู้สึกของเด็กชายอดุดมเป็นต้น

    1.4 วิธีการศึกษาเป็นรายกรณี Case Study เป็นวิธีการศึกษาภูมิหลังของบุคคลอย่างละเอียดโดยจำเป็นต้องใช้วิธีการศึกษาทางจิตวิทยาหลายๆ วิธีมาช่วยได้แก่วิธีสังเกตวิธีสัมภาษณ์วิธีศึกษาจากประวัติในระเบียบสะสมและวิธีทำสังคมมิติเพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของเด็ก

    1.5 วิธีสัมภาษณ์ Interview เป็นวิธีการสนทนาหรือพูดคุยกันระหว่างบุคคลสองคนเพื่อให้สัมภาษณ์รู้จักเข้าใจและทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกสัมภาษณ์

    1.6 วิธีการทดสอบ Test and Questionnaire เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลของบุคคลเป็นจำนวนมากเฉพาะเรื่องเช่นต้องการทราบความสนใจของนักเรียนแต่ละคนในโรงเรียนครูก็ต้องสร้างแบบทดสอบความสนใจหรือนำแบบทดสอบความสนใจหรือนำแบบทดสอบความสนใจของผู้อื่นมาใช้ทดสอบความสนใตของนักเรียนเป็นต้น

    2. วิธีการศึกษาแบบทดสอบ

    เป็นวิธีการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลนอกเหนือจากวิธีการตามธรรมชาติโดยจะมีการสร้างสถานการณ์ขึ้นในห้องปฏิบัติการแล้วคอยสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเช่นต้องการศึกษาความแตกต่างของความสามารถในการท่องจำของเด็กชายและเด็กหญิงผู้ทดลองจะต้องจัดสิ่งเร้าเป็นรูปธรรมต่างๆๆและให้เด็กชายและเด็กหญิงเข้ามาดูสิ่งเร้าดังกล่าวในเวลาเท่าๆกันแล้วให้เด็กชายและเด็หยิ.เขียนตอบว่าจำอะไรได้บ้างเพื่อนำผลมาเปรียเทียบกันว่าใครจำได้ดีกว่าเป็นต้น (สงวนสุทธิเลิศอรุณ,2532,110-111)

    7. ประโยชน์ของจิตวิทยา

    1. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์
    2. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์
    3. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจและรู้พื้นฐานทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์
    4. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจการรับสัมผัสและการรับรู้
    5. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ
    6. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายโยงการเรียนรู้
    7. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเชาวน์ปัญญาและตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อเชาว์ปัญญาของมนุษย์แต่ละบุคคล
    8. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจวิธีการประเมินและวัดบุคลิกภาพได้และแนวทางในการปรับปรุงบุคลิกภาพของตนเอง
    9. ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจความหมายของสุขภาพจิตและสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจิตรู้วิธีการบำบัดรักษาผู้มีอาการทางจิตและการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับตนเองและผู้อื่น
    10. ทำให้ผู้ศึกษามีวิธีในการปรับตัวมีกลวิธานในการป้องกันตนเองและเข้าใจข้อดีและข้อเสียของการให้กลวิธานในการป้องกันตนเอง
    11. ทำให้ผู้ศึกษาเกิดการรับรู้พฤติกรรมทางสังคม (Social Perception) ที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ

    สรุป

    จิตวิทยาคือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือกิริยาอาการของมนุษย์รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้างในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆของบุคคลซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดคะเนหรือพยากรณ์ได้ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันอาจจะเกิดปัญหาในอนาคตโดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ มีนักจิตวิทยาหลายท่านที่ได้รับการยอมรับและใช้ทฤษฏีของเขามาจนปัจจุบันนักจิตวิทยาในยุคปัจจุบันและอนาคตเน้นการผสมผสานมากยิ่งขึ้นจิตวิทยายังเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันจิตวิทยาได้แตกออกเป็นสาขาต่างๆมากมายและยังมีการประยุกต์ใช้ในวงการวิชาชีพต่างๆเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและการศึกษาทางด้านจิตวิทยายังมีความเป็นวิทยาศาสตร์ให้ผลการศึกษาเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

    ข้อมูลอ้างอิง

    1. กันยา สุวรรณแสง. (2540). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร รวมสาส์น.
    2. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2536). พุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิพุทธธรรม,
    3. พรรณี ช. เจนจิต. (2545). จิตวิทยาการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : เมธีทิปส์,. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
    4. จิราภา เต็งไตรรัตน์, นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน), รัจรี นพเกตุ, รัตนา ศิริพานิช, วารุณี ภูวสรกุล, ศรีเรือน แก้วกังวาล และคนอื่น ๆ. (2550). จิตวิทยาทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
    5. ปราณี รามสูต. (2542). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏธนบุรี.
    6. เดโช สวนานนท์. (2520). ปทานุกรมจิตวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
    7. เติมศักดิ์ คทวณิช. (2546). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
    8. สุรางค์ โค้วตระกูล. 2550. จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Sukhachan's KM

แค่อยากแบ่งปัน